เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 พ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ 3203/2540 ที่พนักงานอัยการกองคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง นายศรายุธ ภู่พลับ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่, นายธานี ฟูทอง, นายพรชัย สุคัณธสิริกุล, นายธีรยุทธ สุวรรณพาณิชย์ ทั้งหมดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่เทศกิจ, พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่ และจำเลยคดีร่วมกันฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ อดีตผู้ว่าฯ ยโสธร, พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ เสธ.ยอด อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่, นายนิสสันต์ ชาติชำนิ (เสียชีวิต) และ จ.ส.อ.สุทิน ศรีเมืองหลวง เป็นจำเลยที่ 1-8

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นสมาชิกเทศบาลเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157 และ 337 ประกอบ มาตรา 44, 45, 83 และ 86 กรณีระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538-31 พฤษภาคม 39 พวกจำเลยร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้ค้า 128 ราย ในตลาดวโรรส และตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่

โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 54 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-5 เป็นความผิดตาม ม.148, 149 และ 337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม ม.148 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินฯ จำคุก 9 ปี นายศรายุธ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย

ส่วนจำเลยที่ 6 และ 8 โจทก์มีเพียงพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้นำตัวมาเบิกความในชั้นศาล ดังนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่า จึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 6 และ 8 ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และ 8 ขณะที่นายนิสสันต์ ชาติชำนิ จำเลยที่ 7 ได้เสียชีวิตระหว่างการพิจารณา ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

จำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบ ม.149 และข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินกับตนเองฯ ตาม ม.337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม ม.149 ฐานเรียกรับสินบนฯ คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัว พ.ต.เฉลิมชัย จำเลยที่ 5 จากเรือนจำนนทบุรี และจำเลยที่ 1-4 เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ

ต่อมาจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ค้าในตลาด จำนวน 56 ปาก เบิกความถึงข้อเท็จจริงการประกอบกิจการค้าขายในตลาดไนท์บาซาร์ ว่าจำเลยที่ 1-5 มีส่วนร่วมในการเก็บค่าขายของที่เรียกว่าภาษีเถื่อน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ และจำเลยที่ 4 ยังเปิดให้มีการคิดค่าฝากของรายเดือน เดือนละ 500-600 บาท และมีการจัดทำและจำหน่ายหลังคาติดรถเข็น หากผู้ค้ารายใดไม่ติดหลังคาดังกล่าวก็จะถูกจับกุม และไม่สามารถขายของได้

อีกทั้งยังได้ความจากผู้เสียหายว่า ที่ตลาดไนท์บาซาร์มีการเรียกเก็บเงินค่าขายรายเดือนโดยอ้างว่านำเงินดังกล่าวส่งให้ผู้ใหญ่ในเทศบาล การกระทำของจำเลยที่ 1-5 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเรียกรับเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157 และ 337 ประกอบ มาตรา 44, 45, 83 และ 86 ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1-5 ไม่มีน้ำหนักหักล้างโจทก์ได้

ส่วนที่จำเลยที่ 1-2 ฎีกาว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยเคยมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของพวกจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ผูกพันต่อการพิจารณาคดีของศาล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 ปี จำเลยที่ 2-5 เป็นเวลา 6 ปี

พ.ต.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ ตนได้รับโทษตามคำพิพากษาเกินระยะเวลาแล้ว แต่ปัจจุบันยังต้องถูกคุมขัง อยู่เรือนจำนนทบุรี เนื่องจากผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ ที่ได้รับการพักโทษ ในคดีร่วมกันฆ่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตนยื่นฟ้องพนักงานคุมประพฤติเป็นคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่า ตนถูกสั่งคุมขังมิชอบ เพราะตนได้รับการพักโทษแล้วตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 59

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน