สธ.เผยคนไทยกลับจากอู่ฮั่น เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่ม 2 ราย ส่งจิตแพทย์ดูแลจิตใจ

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยยืนยัน 25 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 9 ราย ยังเหลืออยู่ใน รพ. 16 ราย แต่อาการดีขึ้น รอเพียงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หากผลเป็นลบก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนผู้ป่วย 1 รายที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากติดเชื้อทั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และวัณโรค ขณะนี้อาการยังทรงตัว แพทย์ได้ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้เข้าข่ายสอบสวนโรคสะสมจำนวน 615 ราย ให้กลับบ้านแล้ว 225 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 390 ราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนการดูแลคนไทยที่กลับมาจากอู่ฮั่น จำนวน 138 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในข่ายสอบสวนโรคจำนวน 4 ราย เนื่องจากมีอาการป่วย โดยได้ส่งเข้าห้องแยกโรคที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อาการดีขึ้น ซึ่งผลแล็บเบื้องต้นออกมาเป็นลบ โดยจะรอผลแล็บที่ชัดเจนอีกครั้ง หากเป็นลบก็จะให้กลับมาอยู่ร่วมกันที่สถานที่กักกันโรคที่ฐานทัพเรือสัตหีบ และรอจนครบ 14 วันตามกำหนดก็สามารถกลับบ้านได้ และ 2.กลุ่มคนไทยที่เหลืออีก 134 ราย กลุ่มนี้ก็จะเฝ้าระวังหากมีอาการเจ็บป่วย คือ มีไข้ อาการทางเดินหายใจ ก็จะส่งเข้าห้องแยกโรคทันที

ล่าสุดมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เพิ่มขึ้น 1 ราย แต่เนื่องจากมีการพักร่วมห้องกับอีก 1 คน จึงได้นำทั้งสองคนนี้เข้าห้องแยกโรคเพื่อเฝ้าดูอาการและตรวจวินิจฉัย ซึ่งหากผลออกมาว่าไม่ได้ติดเชื้อก็ให้กลับมาอยู่ในสถานที่กักกันโรคได้และรอจนครบ 14 วันถึงให้กลับบ้าน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตของคนไทยที่กลับมาจากอู่ฮั่น ก็มีความกังวลว่าการอยู่ในสถานที่กักกันโรค 14 วัน จะมีปัญหาเรื่องเครียด วิตกกังวลอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะช่วง 72 ชั่วโมงแรกหรือ 3 วันแรก ที่มีการดูแลอย่างเข้มงวด อยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่ได้พบปะกับใคร จึงต้องเข้ามาดูแลประเมินสุขภาพจิต ความเครียด ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า ไม่มีปัญหาเลย

แม้กระทั่งผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้าอยู่เดิม 3 ราย ก็ไม่มีปัญหา ทุกคนอยู่ในสภาพจิตที่ดี อาจเป็นเพราะวันแรกทุกคนดีใจที่กลับมาถึงประเทศไทย วันที่สอง ทางกองทัพได้ให้เครื่องมือสื่อสารกลับไป ทำให้สามารถติดต่อพูดคุยกับญาติมิตรได้ ตรงนี้ทำให้ความเครียดจะลดลงไปมาก นอกจากนี้ จากการเข้าไปพูดคุยดูแลพบว่า ทุกคนเข้าใจวิธีการปฏิบัติตัวอย่างดี ส่วนจากนี้จะมีการประเมินทุกวันในเรื่องของการปรับตัว และจากนี้จะเริ่มมีการทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้ยืดหยุ่นจิตใจพร้อมกลับไปอยู่ได้ และจะติดตามไปอีก 6 เดือน เพื่อป้องกันภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปสิ่งสำคัญคือตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยขอให้ใช้หลัก 3 I คือ 1.I Am คือ เราเป็นคนใคร เสี่ยงหรือไม่ 2.I Have เราอยู่ในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีแห่งหนึ่งของโลก และ 3.I Can คือเราทำอะไรได้บ้าง เช่น การป้องกันตนเอง โดยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หรืออาจแนะนำคนอื่น ก้าวข้ามไปด้วยกัน สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีการตรวจลูกเรือการบินไทยไฟลต์ทีจี 218 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2563 เส้นทางภูเก็ต-สุวรรณภูมิ เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา เพราะสงสัยผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวบินมาด้วย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ใครก็ตามที่มีการสัมผัสก็จะเข้าสู่ระบบตามมาตรการ ซึ่งขณะนี้ก็พ้นระยะฟักตัวของโรคแล้ว และกลับมาทำงานตามปกติ

เมื่อถามถึงกรณีนักท่องเที่ยวปฏิเสธการรับหน้ากากอนามัยที่แจก นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หลักการคือ ความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนเสี่ยงต่ำจึงไม่ใส่ หลายคนมีความเสี่ยงก็สวมใส่ สิ่งที่สื่อสารคือต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม หากเรามีความเสี่ยงรับและแพร่เชื้อต้องมีความรับผิดชอบ ใส่หน้ากาก

เมื่อถามถึง กรณีการประชุมที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอต ประเทศสิงคโปร์ และพบว่ามีคนติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ ได้มีการตรวจสอบคนไทยที่ไปร่วมประชุมด้วยหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตอนนี้มี 2 ประเทศที่มีผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน คือ ญี่ปุ่น ที่มีการกักตัวผู้โดยสารบนเรือสำราญกว่า 3 พันคน เพราะมีการติดเชื้อจำนวนมาก และสิงคโปร์ที่มีการประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศเริ่มป่วยติดเชื้อ เช่น เกาหลี และมาเลเซีย แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนไทยใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซึ่งเราแจ้งคนไทยทุกคนที่เคยสัมผัสคนจีน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ถือว่าอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง หากมีอาการก็จะทำให้จัดการได้เร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน