เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 6 ต.ค. ที่บริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีกิจกรรมรำลึกครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการล้อมปราบเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มหัวรุนแรงทั้งลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดงและนวพล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย และบาดเจ็บกว่า 170 คน กิจกรรมครั้งนี้ร่วมจัดโดยมธ. คณะกรรมการ 40 ปี 6 ตุลาฯ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ร่วมกับญาติวีรชน 6 ตุลาฯ ญาติวีรชน 14 ตุลาฯ มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และเครือข่ายประชาชนหลายภาคส่วน

s__26886152

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ลานโพธิ์ คณะศิลปศาสตร์ มีการแสดงนาฏกรรมลีลาศิลป์จารึกไว้ในใจชน จากกลุ่มคณะละครบี-ฟลอร์ใส่ชุดขาวเดินขบวนและร้องเรียกชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พร้อมกับแสดงละครนำไม้ไผ่ปลายแหลมมาโปรยตามถนนระหว่างทางเป็นเชิงสัญลักษณ์ จนกระทั่งมาถึงบริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์

s__26886150

ต่อมาเวลา 07.30 น. มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 41 รูป จากนั้น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คอยเตือนว่าคนไทยเคยฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณ เพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้ แม้เหตุการณ์ 6 ตุลาคมยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์อย่างกระจ่างชัด แต่ไม่อาจจะปกปิดความจริงได้ การร่วมรำลึก 40 ปี เป็นการดำเนินการทางประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้ถูกลืมเลือนความใฝ่ฝันความหวังของผู้เสียชีวิต ที่เป็นภารกิจของคนที่ยังมีชีวิตอยู่

s__26886151

นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักศึกษาสมัย 6 ตุลาฯ กล่าวสุนทรกถา หัวข้อ “40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปีเปลี่ยน-40 ปี ไม่ผ่าน?” ว่าไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยปกติหรือไม่ การจัดงานรำลึก 6 ตุลาคมเป็นเรื่องจำเป็น สี่สิบปีผ่านไปความทรงจำของ 6 ตุลาฯ กลายเป็นปัญหาโดยตัวเอง ประวัติศาสตร์ชุดนี้เหมือนเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม เป็นประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ ปีนี้เราเริ่มเห็นภาพหลายภาพจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศมากขึ้น มีหลายคนพยายามค้นหาว่ามีผู้เสียชีวิตถูกผูกคอที่ต้นมะขาม สนามหลวงกี่คน ตอนแรกเชื่อว่ามี 1 คน แต่วันนี้พบว่าอาจมีถึง 4-5 คน

s__26886149

นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า การเมืองไทยช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ถ้าเปรียบเหมือนรถไฟ การเมืองไทยไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงหรือความเร็วปกติ แต่เหมือนรถไฟ 2 รูปแบบ 1.เป็นรถไฟเด็กเล่นที่วิ่งวนไปมา การเปลี่ยนผ่านไม่ใช่หลักประกันที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการเมือง แต่เป็นหลักประกันที่ดีสำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าในท้ายที่สุดการเมืองไทย จะไม่พัฒนาและอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา และ 2.การเปลี่ยนผ่านไม่ต่างจากรถไฟเหาะในสวนสนุก วิ่งขึ้นลง เมื่อวิ่งถึงจุดสูงสุดก็จะวิ่งลงถึงจุดต่ำสุด

s__26886147

“รูปลักษณ์ 2 แบบนี้บอกเราว่านี่ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านแค่ 40 ปี แต่เราต้องถอยไปสู่การเปลี่ยนผ่านปี 2475 ปี คนรุ่นผมใช้ชีวิตอยู่กับ 3 จอมพล เติบโตในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นเด็กในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และโตเข้ามหา’ลัยในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร” นายสุรชาติ กล่าว

s__26886153

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถ้าจะเป็นสติกับคนรุ่นหลังและคนมีอำนาจในยุคปัจจุบันบ้าง คือการปลุกระดมใส่ร้ายป้ายสีนำไปสู่การแตกแยกขนาดใหญ่ และใช้ความรุนแรงโดยรัฐเข่นฆ่าไม่ใช่การแก้ปัญหา

“เงื่อนไขแรกของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ต้องเอาทหารออกจากการเมือง เป็นสิ่งที่ท้าทาย อำนาจนอกระบบต้องยอมปล่อยให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ทำรัฐสภาให้เป็นรัฐสภา ทำให้ศาลเป็นศาล ทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาล ความสัมพันธ์ทางการเมืองขององค์กรทั้งสามส่วนนี้ต้องอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ใช่ภาวะตรวจจับและทำลายดุล แต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะถูกกดทับด้วยยุทธาสตร์ที่ไม่รู้ว่าคนร่างมีความรู้มากเพียงใด” นายสุรชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาญาติวีรชนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันวางพวงหรีดและดอกไม้ที่อนุสาวรีย์ 6 ตุลา พร้อมทั้งมีการอ่านบทกวีจากนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เยาวชนอดีต เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน