“บิ๊กตู่” แจงปม พรก.ฉุกเฉิน เพิ่มยาแรง วอน ใช้เงินอย่างประหยัด เตรียม กู้สมทบงบ เหตุงบฯกลางเหลือน้อย แย้ม มาตรการมีทั้งขอความร่วมมือ-บังคับ ขู่ “นักเลงคีย์บอร์ด” ปล่อย เฟกนิวส์ โดนแน่

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 24 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า การประชุมครม.ในช่วงเช้าเป็นวาระปกติและมีหลายวาระที่ต้องพิจารณาเพราะเป็นงานปกติซึ่งต้องทำคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาปัจจุบัน วาระสำคัญคือการดูแลแก้ปัญหาในระยะที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่มีผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งจากสถานการณ์ที่มีการประกาศออกไปแล้ว

วันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลายมาตรการด้วยกัน ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะชี้แจงมาตรการระยะที่ 2 โดยจะเน้นหนักไปที่ภาคประชาชน ซึ่งทุกคนจะมีเงินในการใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่ก็ขอร้องให้ใช้เงินอย่างประหยัดใช้เงินอย่างพอเพียงเพื่อที่จะดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งมาตรการจะออกมาเป็นระยะๆอาจจะ 2 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง แต่มาตรการเหล่านี้จะทยอยออกมาเป็นลำดับๆ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจะจบเพราะเรายังไม่ทราบว่าจะยาวนานไปแค่ไหนอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงเพิ่มมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมาก 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการรักษาพยาบาลมานานพอสมควรซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตกระทรวงสาธารณสุขจะมีการชี้แจงในรายละเอียดอีกครั้งซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลด้วยถึงแม้จะมีโรคอย่างอื่น แมนบางคนโลกโควิด-19 จะหายไปแล้ว และมีโรคประจำตัวอยู่ทางคณะแพทย์คงจะมีการแถลงรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

“สิ่งสำคัญที่อยากจะเรียนให้ทราบ มาตรการที่ออกไปแล้วในระยะที่ 2 มาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอวันนี้ก็กำลังเตรียมหามาตรการซึ่งอาจจะต้องใช้เงินกู้บ้างในการเพิ่มเติมงบประมาณเหล่านี้ เพราะงบประมาณของปี 63 ก็ค่อนข้างจำกัดอยู่ในขณะนี้งบกลางก็ใช้จ่ายไปพอสมควรเหลือจำนวนน้อยมาก

เราจึงจำเป็นต้องหามาตรการในการหาเงินเข้าสู่ระบบให้มากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นที่ต้องจัดทำ พ.ร.ก. ฉบับต่างๆ การกู้เงินต่างๆของกระทรวงการคลังในระยะนี้เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป เราจึงจำเป็นต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุด ทั้งสถานประกอบการ เพื่อลดการเลิกจ้างพนักงาน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อะไรที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เราก็จะมีมาตรการต่างๆรองรับ ผู้ประกอบการต่างๆให้มีเงินเพื่อเกิดสภาพคล่องเราจะมีมาตรการการเงินการคลังทางภาษีต่างๆออกมาในส่วนของธนาคารรัฐจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ซึ่งรายละเอียดกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการเพิ่มเติมในการรับมือโควิด-19 ว่า เรื่องสุดท้ายที่จะเรียนให้ทราบคือสิ่งที่รัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด คือเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 วันนี้จะนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาประกาศ

โดยจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26มี.ค.) ซึ่งวันนี้ได้หารือมาตรการที่จำเป็นแล้ว

ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่าศอฉ.โควิด-19 ซึ่งข้างล่างจะมีคณะทำงานสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ผระกาศไว้เดิม อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไป

ทั้งนี้ จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ ศอฉ.โควิด-19 โดยตนเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวงมาอยู่ที่นายกฯ หมด เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงานตรงนี้ ฉะนั้น การทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุม โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอ รายงานสถานการณ์ให้ทราบถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนข้อกำหนดตนกราบเรียนว่าเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ฯ ว่าจะทำงานกันอย่างไร ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่ทุกคนอยากทราบว่ามีอะไรบ้าง ต้องขอเรียนว่าข้อกำหนดนั้นสามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ดังนั้น ระยะที่1ที่จะประกาศนั้น

คือการทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือหรือบังคับบ้างอะไรบ้าง แต่ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับจะต้องเจอมาตรการต่างๆ การคัดกรอง การตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งจะแบริเออร์สำคัญในการป้องกันเวลานี้

เช่นเดียวกับการที่เราทำมาตลอดกับคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จะต้องมีการกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ หากมีความจำเป็นจะต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐเพิ่มเติม หากมีการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นรองรับ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน ในเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องจัดหาให้เพียงพอ

วันนี้แม้จะมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม และจะซื้อจากที่ไหนในเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากในปัจจุบัน อันนี้จะเป็นการหารือในแต่ละวันในศอฉ. ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก วันนี้ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา ขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล

ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น จะมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข คมนาคม ต่างประเทศ ซึ่งจะแถลงทั้งวัน จะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถาม และทางศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละวันให้ประชาชนทราบด้วย ขอให้รีบฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ขอให้ทุกคนระวังการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่จากนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด้านตรวจ จุดสกัด เตรียมพร้อมช่วยเหลือส่วนต่างๆในการทำงาน

“จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด อันนี้ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนแล้วกัน” นายกฯ กล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาออกมาในวันนี้ ทั้งคนในระบบประกันตนและนอกระบบประกันตน เราทำถึงประชาชนทุกกลุ่ม ขอให้เข้าใจ

และฝากสื่อด้วย ผู้ที่ใช้โซเชียลในการบิดเบือนต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย สามารถจับกุมดำเนินคดีได้

ไม่ว่าจะกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนไว้ด้วย ตนเข้าใจว่าประชาชนทุกคนรักประเทศเหมือนกัน แต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่ตนจะขอร้อง

เมื่อถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีระยะประกาศใช้ถึงเมื่อไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เดือนนึง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์เสร็จได้เดินออกจากตึกบัญชาการ 1 เพื่อไปยังห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งระหว่างนั้นสื่อมวลชนได้สอบถึงว่ามีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วสบายใจขึ้นหรือไม่

โดยนายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว และทำมือให้ฟังการแถลงข่าว พร้อมชูกำปั้นสองข้างขึ้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า สู้ ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียยรัฐบาล เปิดเผยว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะประกาศใช้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.นั้น ก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้มีเวลาเตรียมตัว


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน