เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่อาคารขยายแบบ กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการจัดทำเชือกฉุดชักราชรถ ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมศพในริ้วขบวนอิสริยยศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพล.ร.ท.ทินกร ตัณฑากาศ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือและคณะ ให้การต้อนรับพร้อมนำชม

พล.ร.ท.ทินกร กล่าวว่า สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จัดทำเชือกฉุดชักราชรถ และสนับสนุนการติดตั้งนั่งร้านในการบูรณะราชรถ ราชยาน โดยในส่วนของการทำเชือกฉุดชักราชรถ แบ่งออกเป็น 2 ชุดคือ คือชุดสำรอง ใช้ในการฝึกซ้อมกำลังพลฉุดชักราชรถและชุดจริงสำหรับงานพระราชพิธีฯ จริง
ประกอบด้วย ชุดสำรอง ใช้ในการซักซ้อมกำลังพลฉุดชักราชรถ และชุดจริง สำหรับงานพระราชพิธีฯ

โดยการจัดทำขึ้นใหม่จำนวน 6 องค์ และเกรินบันไดนาค ดังนี้ 1.พระมหาพิชัยราชรถ หมายเลข 9780 เชือกหน้าชนิด 43 ห่วง พลฉุดชัก 43 คน จำนวน 4 สาย ยาวสายละ 40.25 เมตร เชือกหลังชนิด 22 ห่วง พลฉุดชัก 22 คน จำนวน 2 สายยาวสายละ 22.40 เมตร 2.เวชยันตราชรถ หมายเลข 9781 เชือกหน้าชนิด 43 ห่วง พลฉุดชัก 43 คน จำนวย 4 สาย ยาวสายละ 40.25 เมตร เชือกหลังชนิด 22 ห่วง พลฉุดชัก 22 คน จำนวน 2 สาย ยาวสายละ 22.40 เมตร

3.ราชรถน้อย หมายเลข 9782 หมายเลข 9783 และหมายเลข 9784 เชือกหน้าชนิด 14 ห่วง พลฉุดชัก 14 คน จำนวน 4 สาย ยาวสายละ 17.40 เมตร เชือกหลังชนิด 9 ห่วง พลฉุดชัก 9 คน จำนวน 2 สาย ยาวสายละ 11.65 เมตร 4.ราชรถรางปืน เชือกหน้าชนิด 14 ห่วง พลฉุดชัก 15 คน จำนวน 2 สาย ยาวสายละ 13.50 เมตร 5.เกรินบันไดนาค เชือกหน้าชนิด 5 ห่วง พลฉุดชัก 5 คน จำนวน 2 สาย ยาวสายละ 8.60 เมตร และเชือกหลังชนิด 1ห่วง พลฉุดชัก 1 คน จำนวน 2 สาย ยาวสายละ 8.60 เมตร

ทั้งนี้ในส่วนของการจัดทำเชือกชุดสำรอง ได้ส่งมอบให้กรมสรรพาวุธ ทหารบก เพื่อนำไปใช้ในการฝึกซ้อมฉุดชักราชรถเรียบร้อยแล้ว ส่วนเชือกชุดจริงอยู่ระหว่างดำเนินการคืบหน้าไปแล้วกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ กำหนดเสร็จสิ้นต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งกรมอู่ทหารเรือจะต้องส่งมอบเชือกชุดจริงให้กรมศิลปากร 2 สัปดาห์ ก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ปลายเดือนตุลาคม

สำหรับครั้งนี้กรมอู่ทหารเรือมีการปรับวัสดุที่ใช้ในการทำเชือกเฉพาะในส่วนของพระมหาพิชัยราชรถ จากเดิมที่ใช้เชือกเปอร์ร่อนมาเป็นเชือกมะนิลาหรือป่านมะนิลา เนื่องจากพระมหาพิชัยราชรถมีน้ำหนักมาก กรมสรรพาวุธจึงกำหนดให้ใช้เชือกมะนิลา ซึ่งเป็นเชือกที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ มีความเหนียว ความแข็งแรง และไม่มีความยืดหยุ่น ส่วนราชรถองค์อื่นๆ ยังใช้เชือกเปอร์ร่อน ซึ่งเป็นเชือกที่มีความแข็งแรง คงทน ยืดหยุ่นน้อยเช่นเดิม

ด้านนายอนันต์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการบูรณะราชรถราชยาน เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะนี้พระมหาพิชัยราชรถมีความคืบหน้า 70 เปอร์เซ็นต์ ราชน้อยมีความคืบหน้า 50 เปอร์เซ็นต์ คาดจะแล้วเสร็จตามกำหนดในเดือนก.ย. โดยภายหลังที่การดำเนินงานแล้วจะเสร็จ จะมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำพิธีบวงสรวงราวปลายเดือนก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน