เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจัดเสวนา 40 ปี 6 ตุลา เรื่อง “ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย” มีวิทยากร ได้แก่ น.ส.รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้, นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

201610081616302-20130402142329

น.ส.รุ่งระวี กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมเป็นปัญหาใหญ่ในทุกที่ทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง เช่นเดียวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาเดียวกัน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการกำลังที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ มีการซ้อมทรมาน จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในที่สุด

“มีการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเหตุการณ์ที่หน้าสถานีตำรวจตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ มักจะถูกพูดถึงและถูกนำไปใช้เพื่อชักชวนให้คนเข้าสู่ขบวนการ” นางสาวรุ่งระวี กล่าว

น.ส.รุ่งระวี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากถึง 10 กรณี และในหลายกรณีได้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้การสังหารและใช้อำนาจนอกกฎหมาย

“แต่อย่างไรก็ตามปัญหาของคณะกรรมการ คือไม่มีอำนาจในการบังคับให้มาให้ข้อมูลได้ อีกปัญหาหนึ่งคือกลไกอิงกับระบบราชการ ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระในการทำงานและมีปัญหาเรื่องความเป็นมืออาชีพในการทำงานอีกด้วย” น.ส.รุ่งระวี กล่าว

นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ผลรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่สามจังหวัด แม้ว่าจะทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นมาได้ แต่ส่วนใหญ่จะจบที่การเยียวยาเป็นหลัก และไม่ได้มุ่งที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รายงานจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการนำคนกระทำผิดมาดำเนินคดีอาญา ซึ่งจากการค้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาก็พบว่าน้อยมาก

“เงื่อนไขสำคัญที่ให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด คือพรก.ฉุกเฉิน ที่ได้ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ โดยเป็นเกราะที่แข็งแรงทางกฎหมาย ที่ช่วยป้องกันการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้อุปสรรคใหญ่ คือพนักงานสอบสวนที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะหวาดเกรงต่ออำนาจ” น.ส.รุ่งระวี กล่าว

นางพวงทอง กล่าวว่า เวลาที่เราพูดถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด วิธีการที่ชนชั้นนำคุ้นเคยในการปกป้องตัวเอง คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมากถึง 22 ฉบับ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีวิธีการใหม่ที่จะสร้างการลอยนวลพ้นผิด จากการสลายการชุมนุมเสื้อเแดง ปี 2553 คือ ผ่านทางองค์กรอิสระทั้ง คอป. และ กสม. ที่จะสร้างวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในเติบโตแข็งแกร่งต่อไป

“โดยทั้ง คอป. และ กสม. บอกว่าเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลโดยตรง มีหน้าที่ในการตรวจสอบ แต่คำถามคือองค์กรเหล่านี้ได้ทำตามหลักการดังกล่าวจริงหรือไม่ เป็นอิสระจริงหรือไม่ ซึ่งเราสามารถตีความได้ในรายงานที่ทำออกมานั้น รวมถึงบทบาทที่ได้กระทำ” นางพวงทอง กล่าว

นางพวงทอง กล่าวอีกว่า การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2553 นั้น ทั้ง คอป. และกสม. ละเลยที่จะไม่กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น รายงานของ คอป. ได้สร้างความสับสน เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเหมือนการทะเลาะกันในครัวเรือน รัฐและประชาชนมีความผิดพอๆ กัน ทั้งที่ฝ่ายแรกมีกำลังมหาศาล ซึ่งเป็นวิธีการเปรียบเปรยที่เป็นการลดระดับความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน

“อย่างกรณีหกศพวัดปทุม คอป.เองก็อ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์ อ้างร่องรอยคล้ายกระสุนยิงใต้ฐานบีทีเอส รวมถึงชายชุดดำในวัด แต่ในที่สุดก็ถูกหักล้างไปในภายหลัง หรือกรณีการวางเพลิง คอป. ไม่ลังเลในการทำให้คนเข้าใจว่าฝีมือของผู้ชุมนุม แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ศาลถอนยกฟ้องจำเลยเสื้อแดงทั้งหมดในเวลาต่อมา อีกทั้งผู้ก่อตั้งคอป.เองก็คือรัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง” นางพวงทอง กล่าว

นางพวงทอง กล่าวว่า กรณีกสม. ตนมองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อคติปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในหลายครั้ง ทั้งกรณีการชุมนุมของพันธมิตรฯ และรัฐประหาร 2549 ที่ทำให้เห็ว่านักสิทธิมนุษยชนไทยไม่เป็นกลาง

“นักทำงานด้านสิทธิที่จะไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับทักษิณได้ แต่ถ้าความรุนแรงของรัฐบาลอีกชุดหนึ่งทำกับประชาชน คุณต้องวิพากย์อย่างเดียวกันด้วย แต่ซ้ำร้ายความรุนแรง ยังถูกทำให้เบาบางลงไปอีกเมื่อรัฐประหาร ศาลอาญาวินิจฉัยว่าการสั่งการที่ทำให้มีคนเสียชีวิต เป็นเพียงแค่การกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการเท่านั้น ทั้งคอป.และกสม. ได้ทำให้การพ้นผิดลอยนวล ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม รายงานของทั้งสององค์กรทำให้วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด มีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นการสนับสนุนความรุนแรงโดยองค์กรอิสระ ที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าไม่ได้มีใครสั่งควบคุมให้เขาเขียนรายงาน ดังนั้นนี่เป็นการที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องลอยนวลพ้นผิดอย่างสง่างามยิ่งกว่าครั้งใดๆ

“สิ่งที่พวกเขาเป็นในสายตาของประชาชนจำนวนมาก คือเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องมีการสั่งการโดยตรง แต่มีจุดยืนและอคติทางการเมืองเป็นตัวกำกับการทำงาน” นางพวงทอง กล่าว

ด้านนายธงชัย กล่าวว่า อภิสิทธิ์ในการปลอดความผิดถือเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้นิติธรรม นิติรัฐของรัฐไทย เป็นความฉ้อฉนและเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในรัฐและสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากนิติรัฐของไทยไม่เคยสถาปนาบนฐานของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่นิติรัฐที่เห็นว่าประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่อยู่บนช่วงชั้นตามสถานะ ตามฐานะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอยู่ในสังคม และลดหลั่นกันตามชั้นชน หากใครมีอำนาจมากก็จะได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน