ผู้เสียหายแชร์ทองคำทวงถามความคืบหน้า “ดีเอสไอ” หลังผ่าน 5 ปีคดีไม่คืบ สูญเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ด้าน “ดีเอสไอ” เผยรับเป็นคดีพิเศษแล้ว พร้อมส่งปปง. เช็คเส้นทางการเงิน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้เสียหายประมาณ 10 ราย ที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนแชร์ทองกับบริษัท วาย แอลจี บูลเลี่ยนอินเตอร์เนชั่นแนล เดินทางเข้าติดตามความคืบหน้าในคดีกับดีเอสไอ หลังผ่านมา 5 ปีที่ แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายประมาณ 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีพ.ท.ประจวบ ปากคลอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.อัชภรณ์ เรืองรัตน์ ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนร่วมลงทุนกับบริษัท วาย แอล จีฯ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงเดือนเม.ย.2556 โดยตนรู้จักกับบริษัทดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ โดยจากข้อมูลพบว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทใหญ่และมีความน่าเชื่อถือ โดยอ้างว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร ก่อนตัดสินใจร่วมลงทุนซื้อขายทองคำ หรือเทรดทองกับบริษัทดังกล่าว โดยจะมีพนักงานทำหน้าที่เป็นคนแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาให้ในเรื่องของการซื้อและขายทองคำอยู่ตลอด แต่หลังจากเริ่มลงทุนไปได้ประมาณ 8 เดือน ก็เริ่มเกิดความผิดปกติและนำไปสู่การขาดทุนประมาณ 50 ล้านบาท เพราะตนเป็นคนที่ลงทุนเยอะมาก แต่ก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่เคยแจ้งให้ตนทราบเลย ตนจึงเดินทางเข้าไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าไปครั้งแรกหลังจากได้ร่วมลงทุนมา ซึ่งตนไม่เคยทำสัญญาอะไรกับทางบริษัทเลย แต่มีการเซ็นต์เอกสารและเมื่อเซ็นต์เสร็จแล้ว เขาก็รีบเก็บโดยที่เราไม่ได้อ่าน

น.ส.อัชภรณ์ กล่าวต่อว่า โดยทางบริษัทอ้างว่า เป็นความผิดพลาดของเซลล์ที่คอยให้คำปรึกษาตนอยู่ตลอด แต่ตนมองว่าไม่เป็นธรรมกับตน และไม่สามารถทำอย่างนี้กับตนได้ เพราะไม่ใช่เงินเพียง 100-200 บาท แต่เป็นเงินหลายล้านบาท จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางบริษัทไม่เคยอธิบายหรือชี้แจงเกี่ยวกับร่วมลงทุน หรือวิธีการเล่นเลย โดยผู้เสียหายจะโดนหลอกด้วยวิธีการเดียวกันแบบนี้ และมารู้ตัวว่าขาดทุนในภายหลัง ทั้งนี้ ตนอยากให้ทางบริษัทออกมาชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย

ด้าน พ.ท.ประจวบ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เคยมีผู้เสียหายเดินทางมาร้องเรียนยังดีเอสไอแล้ว และดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวน ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ เพื่อรับเป็นคดีพิเศษ ต่อมาอธิบดีดีเอสไอได้ลงนามรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษที่ 22/2560 ฐานความผิดหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมสอบปากคำผู้เสียหาย โดยพบมีผู้เสียหายเกือบ 2,000 คน และบางส่วนไม่กล้าเข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ส่วนผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายเรียกมาสอบปากคำแต่อย่างใด โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายกว่า 2000 ล้านบาท

พ.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบกับกรศุลกากรด้วยว่า บริษัทแห่งนี้ได้นำเข้าทองคำจากต่างประเทศในช่วงปี 2555-2556 ที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างหรือไม่ อีกทั้ง พนักงานสอบสวนยังได้ระงับการบัญชีธนาคารที่บริษัทนี้เปิดไว้ทุกบัญชีแล้ว พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน