อึ้ง!หนี้ครูไทยพุ่ง 1.36 ล้านล้าน ศธ.เผยมาตรการแก้ปัญหา รอโควิดคลี่คลาย เตรียมนำมา พิจารณาใหม่ เป้าหมายให้ครูมีเงินเหลือพอใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พูดคุยกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จนได้ข้อสรุปตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทางธนาคารจึงต้องนำเม็ดเงินที่เตรียมไว้ปรับโครงสร้างหนี้ครู ไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในภาพรวมของประเทศก่อน โดยมีทั้งมาตรการลดดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น และพักชำระดอกเบี้ย ซึ่งครูที่ได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้เช่นกัน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาพรวมมีหนี้ครูทั้งระบบกว่า 1.36 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสินกว่า 3.9 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 6 หมื่นล้านบาท และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ อีกกว่า 8.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายลง ก็อาจจะต้องนำมาตรการเดิมที่เสนอไปมาพิจจารณาใหม่ ซึ่งเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้คือ ให้ครูมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน

“มาตรการเดิมที่เสนอไป ต้องให้ พล.อ.ประยุททธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อทำความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง (กค.) แต่ต้องชะลอไปก่อน เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ถ้าพ้นจากนี้ไป 3-4 เดือน อาจต้องมาพิจารณาปรับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เป้าหมายคือให้ครูมีเงินเดือนเหลือใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งมาตรการที่เสนอไป มีทั้งยืดเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น และพักดอกเบี้ย เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเหลือเงินไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น” นายอนุชา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน