เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ปกครองรายหนึ่งเผยแพร่คลิปบทสนทนากับนายวิโรฒ สำรวล ผอ.ร.ร.สามเสนวิทยาลัย โดยอ้างว่ามีการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกที่นั่งเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 สูงถึง 400,000 บาท ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนิติกรของสพฐ.ร่วมตรวจสอบนั้น

ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะคณะกรรมการฯ อยู่ในระหว่างลงพื้นที่โรงเรียนตรวจข้อมูลทุกด้านที่มีอยู่ ซึ่งบุคลากรของโรงเรียน และโดยเฉพาะตัวของนายวิโรฒเอง ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลเป็นอย่างดี ดังนั้นข้อสรุปในตอนนี้จึงยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นหากผู้ร้องหรือใครมีหลักฐานคลิปวิดีโอที่ระบุว่าเป็นคลิปฉบับเต็ม ก็ขอให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่ สพฐ.หรือสพม.เขต 1 กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ดี หากผลการสืบข้อมูลของคณะกรรมการฯ สรุปออกมาว่ามีการกระทำผิดจริง สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับนายวิโรฒทันที จะไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องทุจริตอย่างแน่นอน

“สำหรับเด็กนักเรียนที่ถูกระบุว่าผู้ปกครองจ่ายเงินแลกที่นั่งเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 นั้น จากการตรวจสอบพบว่าเด็กมีรายชื่อเข้าเรียนตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ตามเกณฑ์รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษของโรงเรียน ประกอบด้วย 1.ข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน 2.บุตรข้าราชการครูและบุคลากรปัจจุบันของ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย และ ร.ร.อนุบาลสามเสนวิทยาลัย 3.นักเรียนในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียน และ4.นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย แต่คลิปที่เผยแพร่ออกไปถูกบันทึกไว้ในวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงการบริจาคเงินเพื่อสร้างรั้วโรงเรียนใหม่ และในคลิปก็ยังไม่มีการรับเงินเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้นายวิโรฒก็ยืนยันว่าไม่ได้เรียกรับเงินแต่อย่างใด และคลิปเหมือนถูกตัดต่อสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงโรงเรียน จนนายวิโรฒต้องไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกับผู้เผยแพร่คลิป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพื่อให้คณะกรรมการฯ ทำงานได้อย่างไม่มีอุปสรรค สามารถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ จะมีการพิจารณาให้นายวิโรฒออกมาช่วยราชการชั่วคราวก่อนหรือไม่ นายการุณ กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดเสียงแตกแยกเป็นสองฝ่ายภายในโรงเรียน ส่วนหนึ่งอยากให้ สพฐ.ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนออกนอกพื้นที่ ขณะที่ส่วนหนึ่งแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ย้ายนายวิโรฒไปช่วยราชการ ดังนั้นตนในฐานะเลขาธิการ กพฐ.จึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะไม่เช่นนั้นจะสร้างความแตกให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ ฉะนั้นในเบื้องต้นคงยังไม่มีการโยกย้ายออกนอกพื้นที่เพราะนายวิโรฒ ยังให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการฯ ในการให้ข้อมูลแก่อย่างเต็มที่ และเมื่อผลสรุปยังไม่ออกมา ก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการหารือเรื่องการฝากเด็กเข้าเรียนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนายกฯ และตนขอยืนยันว่าการดำเนินการรับนักเรียนต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์เท่านั้น รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดระบบการฝากเด็กเข้าเรียน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษา

สำหรับกรณีคลิปวีดีโอนี้หากพิจารณาโดยหลักการแล้ว คนให้และคนรับก็มีส่วนในการกระทำความผิดเช่นกัน ส่วนที่นายกฯ พูดว่าถ้ามีการฝากเด็กจริง เด็กต้องรับผิดชอบออกจากโรงเรียนนั้นด้วยนั้น ทุกคนกำลังเข้าใจเจตนานายกฯผิด เพราะนายกฯ ไม่ได้กล่าวถึงเด็กนักเรียนคนที่เกิดเรื่อง แต่พูดโดยหลักการทั่วไปว่าในอนาคต คนให้ หรือคนฝากเด็ก ถือเป็นสินบนชนิดหนึ่ง ต้องคำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้น และผลเสียที่แย่ที่สุด จะเกิดกับเด็กที่ไม่รู้เรื่อง

“นายกฯแนะปมชัดเจนในเรื่องนี้ว่าต้องไม่มีการฝากเด็กเกิดขึ้น ที่นายกฯ พูดเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องการปรามเตือน เนื่องจากความผิดแบบนี้เป็นความผิดทั้ง 2 ฝ่าย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ คือ ระบบรับเด็กอย่างไร สอบเข้าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น” รมว.ศธ. กล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนการสืบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้ทราบว่าเลขาธิการ กพฐ.ได้ดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งทางผอ.ร.ร.สามเสนวิทยาลัยเองก็บอกว่าคลิปถูกตัดต่อ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สพฐ.จะต้องพิสูจน์ให้ครอบคลุมทุกด้าน และต้องรอผลพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าคลิปดังกล่าวถูกตัดต่อหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าชัดเจนว่าผอ.ร.ร.สามเสนวิทยาลัยผิดจริง ก็ต้องถูกลงโทษวินัยร้ายแรงอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับนโยบายการรับนักเรียนโดยพิจารณาตามเงื่อนไขพิเศษนั้น เรื่องนี้คงไม่สามารถบอกได้ตอนนี้ว่าจะมีนโยบายดังกล่าวต่อไปหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะเรื่องนี้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว และเป็นอย่างที่นายกฯ ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดัง และแต่ละโรงเรียนมีที่มาที่ไปคนละแบบ ขณะที่รัฐจัดการศึกษาได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนก็ต้องเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบาย ฉะนั้นเมื่อต้องมีโควตา มีเด็กพิเศษ การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องทำอย่างโปร่งใส จะไปตัดเสื้อตัวเดียวและใช้กับทุกคนคงไม่ได้“เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทุกคนจะดำเนินการให้โปร่งใสมากขึ้น ต่อจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนต้องระมัดระวัง แบบที่นายกรัฐมนตรีและผมระมัดระวัง ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองมีความเสี่ยงในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการฝากนักเรียน การกระทำผิด” รมว.ศธ. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน