วานนี้ (30 มิ.ย.) นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลก ประจำ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้นำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง

“ประมาณการว่า ไทยจะมีคนตกงาน และสูญเสียรายได้ จาก โควิด-19 กว่า 8.3 ล้านคน ทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง

ซึ่งจากรายงานยังพบอีกว่าจำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ) จะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรกเป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส 2/2563 โดยเฉพาะ สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคการผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จาก 6% เป็น 20%”

ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ยอมรับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจาก โควิด-19 โดยเวิลด์แบงก์คาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้อาจหดตัวกว่า 5%

และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่า ที่จะกลับสู่ระดับจีดีพีก่อนที่จะประสบปัญหา โควิด-19 การส่งออกคาดหดตัวประมาณ 6.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลง ซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาส 2/2563 ประกอบกับมีคนตกงานกระจายไปทั่ว

และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลางไปถึงครัวเรือนที่ยากจน ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ไทยเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563

“จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุดพบว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในไตรมาส 2/2563 แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง แต่การที่ไทยเริ่มผ่อนปรนการห้ามเดินทาง

จะทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เดิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้วและเป็นเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/2563 ต่อเนื่องไปในปี 2564 แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวและยังมีความไม่แน่นอนอยู่”

โดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะขยายตัว 4.1% และปี 2565 น่าจะขยายตัว 3.6% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดภายในกลางปี 2565 แต่รูปแบบของการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การท่องเที่ยวที่เปราะบาง รวมถึงการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า พลังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ซึ่งรายงานฉบับนี้เวิลด์แบงก์เสนอว่า ควรขยายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกมองข้าม

ทั้งยังควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป และถ้าเป็นไปได้ควรพยายามเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และความสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ ในระยะปานกลางประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่จะให้ประโยชน์ครอบคลุมทั่วทุกด้านรองรับการแพร่ระบาดของโรคและวิกฤตการณ์อื่นๆ โดยควรเสริมด้วยการมุ่งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน

สำหรับผู้ประกอบการที่เปราะบางควรต้องปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ไปสู่การเสริมสร้างผลิตภาพของผู้ประกอบการที่ยังประกอบกิจการอยู่ รวมทั้งปรับทิศทางการสนับสนุนด้านการคลัง จากมาตรการฉุกเฉินไปสู่โครงการสร้างงานชั่วคราว โดยเพิ่มความสะดวกให้กับบริษัทที่จะเข้าร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

หรือการรับทำงานสาธารณะมากขึ้น และในระยะต่อไปควรปรับเปลี่ยนการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ที่เน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฝึกอบรมแรงงาน ฝึกอบรมการบริหารงาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบกิจการ

อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพรวมมาตรการเยียวยากลุ่มต่างๆ ของรัฐบาลทั้งภาคครัวเรือนและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่ารัฐบาลทำได้ดีและเร็วกว่าประเทศอื่น เห็นได้จากเงินเยียวยาที่ใช้ในวงเงินสูงคิดเป็น 13% ของจีดีพี

และมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของไทยยังสามารถรองรับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ได้เพียงพอในไตรมาสต่อไป เช่น การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็ยังดำเนินการต่อได้ แต่ขณะเดียวกันไทยก็ต้องกลับมาดูสถานะการคลังโดยการขยายฐานภาษีเพื่อเก็บรายได้ภาษีเข้าประเทศให้มากขึ้น ลดภาระหนี้สาธารณะด้วย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน