เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 ก.ค. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 16 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยสืบพยาน 3 ปาก เป็นอดีตข้าราชการและนักวิชาการ

โดยนายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดนครรราชสีมา ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญที่เกษียณแล้ว ได้เบิกความเป็นคนแรก ยืนยันถึงขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้าว่ามีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวจะต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยัน โดยลงชื่อและเลขรหัสไว้ด้วย

ส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุดของม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯนั้น ทำขั้นตอนการแทงข้าวไม่ถูกวิธี จึงกลายเป็นว่ามีข้าวหักและเสียมาก ส่วนที่ตั้งข้อสงสัยว่ามีข้าวของกัมพูชาปลอมปนนั้น ลักษณะข้าวของกัมพูชากับไทยแตกต่างกันชัดเจน ยืนยันไม่มีการนำข้าวกัมพูชามาปะปนในโครงการ และระหว่างการดำเนินโครงการจำนำข้าวก็มีการสั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเพื่อเฝ้าระวังด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่าเคยถูกลงโทษทางวินัยเมื่อปี 2548 โยถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือนเนื่องจากส่งเอกสารใบประทวนล่าช้า ซึ่งการลงโทษนั้นไม่ใช่การกระทำระหว่างโครงการจำนำข้าวนี้

จากนั้นนายชนุตร์ปกรณ์ วงษ์สีนิล อดีตผอ.อคส. ปี 2556 ได้ขึ้นเบิกความประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศที่เคยดูแลประมวลผลได้วันต่อวัน ส่วนที่ตนถูก ป.ป.ช.ตั้งสอบข้อเท็จจริงนั้น เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหารับเงิน 30 ล้านบาทช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า เหตุที่ตนถูกร้องเพราะถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากเอกชนจะให้ช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับ แต่ตนไม่รับซึ่งเคยให้การ ป.ป.ช.แล้ว และที่เคยมีทนายคนนอกไม่ใช่ลูกจ้างอคส. มาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ป.ป.ช.เรื่องการตรวจสอบจำนำข้าวนั้น เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวงผ่านผอ.อคส.คนก่อนโดยให้ตนดูแลความสะดวก ส่วนพยานปากที่ 3 จะเริ่มในเวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 ส.ค. เวลา 09.00 น. โดยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาตามที่ร้องขอในวันที่ 1 ส.ค.นี้ พร้อมกำหนดให้โจทก์และจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ศาลยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พยานโจทก์ 15 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 10 นัด พยานจำเลย 30 ปาก ใช้เวลา 16 นัด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เหตุที่ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีโครงจำนำข้าว ตรงกับสำนวนคดีฟ้องนายบุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 รายคดีทุจริตระบายข้าว เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวนมีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน

ขณะที่ศาลให้โอกาสอัยการโจทก์ นำพยานบุคคลไต่สวนแล้วถึง 15 ปากใช้เวลา 10 นัด และฝ่ายจำเลยไต่สวนพยาน 30 ปากใช้เวลา 16 นัด ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายเต็มที่ในการนำพยานบุคคลไต่สวนแล้วตามหลักเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามหลักกฎหมายแล้ว ดังนั้นที่จำเลยยื่นขอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทกฎหมายเรื่องดุลพินิจศาลในการไต่สวนพยานจึงไม่มีเหตุตามรัฐธรรมนูญฯ ก็ให้ยกคำร้องนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน