สั่งเอาผิด 16 แกนนำม็อบ 19 กันยา เหตุชุมนุมไม่ขออนุญาต กทม.เร่งเช็กปมทำหญ้าสนามหลวงเสียหาย หลังม็อบบุกเข้าพื้นที่ แถมเจาะสนามหลวงอีก

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 ก.ย. ที่บช.น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปกร พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผบช.น. ในฐานะโฆษกบช.น. พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผบช.น.ดูแลงานกฎหมายและคดี แถลงความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2536 ลงในพื้นที่สนามหลวง เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ก.ย. นายสุรเดช อำนวยสาร ผู้อํานวยการเขตพระนคร ได้รับมอบอํานาจจากกรุงเทพมหานคร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้ดําเนินคดีกรณีมีกลุ่มบุคคลได้ทําลายรั้วเหล็ก และกลุ่มบุคคลบางส่วนได้ขุดเจาะถนนคอนกรีต เป็นถนนตัดกลางท้องสนามหลวงที่มีไว้สําหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ข้อหาฐานทําให้เสียหายทรัพย์ และพ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535 และเมื่อวันที่ 21 ก.ย.63

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวต่อว่า ต่อมากรมศิลปากรเข้าตรวจสอบพบว่า มีการฝังหมุดของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในพื้นที่สนามหลวงอันเป็นโบราณสถาน เข้าข่ายการกระทําความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10 “ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อ เติม ทําลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้น สิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้าง อาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทํา ตามคําสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี…” ทางพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้รับคําร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 426/2563 ลงวันที่ 20 ก.ย.63

“จากนั้นทางพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่อีโอดี เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงพบว่ามีทรัพย์สินเสียหายหลายรายการ และพบว่ามีการขุดถนนคอนกรีตเป็นหลุมกว้างขนาด 1 ฟุตคูณ 1 ฟุต ลึก 2.5 ซ.ม. เพื่อฝังหมุด จึงตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี และนําส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์” โฆษกผบช.น.กล่าว

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณีหมุดทองเหลืองดังกล่าวมีพี่น้องประชาชนสงสัยว่าหายไปไหน ยืนยันว่าไม่ได้หายไปไหน แต่ส่งมอบให้ตำรวจพิสูจน์ตรวจสอบ ส่วนกรณีที่มีการปักหมุดทองเหลืองเพิ่มเติม จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 พื้นที่ 1.หากเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนราชการ เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานใดดูแลอยู่ หากกระทำดังกล่าวดูแล้วมีความผิดตามกฎหมายก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนได้

2.หากเป็นพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่ส่วนบุคคล การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ความฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลยืนยันจากทางอธิบดีกรมศิลปกรบอกแล้วว่าหมุดนี้ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถจะมาไว้ในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์

พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวว่า ภายหลังจากทางกรุงเทพมหานครแจ้งความดำเนินคดี โดยมีพนักงานเขตพระนครเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามแจ้งความร้องทุกข์ตามข้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ยังมีการแจ้งความร้องทุกข์ความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดตั้งการชุมนุม

ส่วนความผิดอื่นๆ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งถอดเทปคำปราศรัยต่างๆ การดำเนินการจัดให้มีการชุมนุม ผู้เข้าร่วมบางท่านมีความผิดเรื่องใด ส่วนจะมีผู้ถูกดำเนินคดีกี่รายนั้น ในส่วนงความผิดไม่แจ้งการจัดให้มีการชุมนุม มีผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 16 คน ส่วนกรณีบุกรุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ท้องสนามเปิดบริการประชาชนทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. มีทางเข้า-ออก 7 ช่องทาง หลังจากเลิกการชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงแล้ว กทม.นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สิ่งแวดล้อม เทศกิจ และสำนักบรรเทาสาธารณภัย ทำความสะอาดเคลียร์พื้นที่ ตรวจสอบความเสียหาย และจัดการซ่อมแซม

จากการตรวจสอบพบทรัพย์สินเสียหาย ได้แก่ รั้วเหล็กสีเขียว 7 แผง กุญแจคล้องรั้วเหล็กให้ติดกันเป็นแผงจำนวน 92 ดอก พื้นปูนซีเมนซ์กลางสนามหลวงถูกขุดเจาะขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต มีแผ่นโลหะสีเหลืองฝังอยู่ ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบ อาจจะมีต้นไม้ สนามหญ้า คิดเป็นจำนวนเงินไม่มาก ถ้าพบเพิ่มเติมก็จะมอบหมายให้ ผอ.เขตพระนคร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน