ครม.อนุมัติเวนคืนที่ดิน 160 ไร่ เตรียมสร้างถนน 6-8 เลน เชื่อมสะพานมหาเจษฎาบดินทร์ฯ กับ ถนนกาญจนาภิเษก บรรเทาปัญหารถติด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์กับถนนกาญจนาภิเษก ที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. …. วงเงินงบประมาณในการดำเนินการโครงการประมาณ 4,032 ล้านบาท

ซึ่งเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว เพื่อการสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพการจราจรติดขัดในพื้นที่

กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างถนนใหม่ ขนาด 6-8 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 3.82 กิโลเมตร มีที่ดินที่จะถูกเวนคืนประมาณ 160 ไร่ จำนวน 340 แปลง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 220 รายการ

เวนคืน เมืองนนท์

โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการโครงการประมาณ 4,032 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 15 ล้านบาท ,ค่าทดแทนอสังหารมทรัพย์ประมาณ 2,396 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 1,621 ล้านบาท ส่วนผลวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 1,152.23 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ เท่ากับ 16.6% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน เท่ากับ 1.45 ซึ่งถือได้ว่าโครงการนี้มีความเหมาะสม

เมื่อโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบรรเทาปัญหาสภาพจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งกรมทางหลวงได้คาดการกรณ์ปริมาณการจราจรในอนาคต สำหรับกรณีที่มีโครงการกับไม่มีโครงการบนถนนโครงการในพื้นที่
พบว่า กรณีที่มีโครงการจะทำให้จำนวนของยานพาหนะ (Passenger Car Unit: PCU) ลดน้อยลง เช่น คาดการณ์ปริมาณการจราจรปี 2567 ถนนนครอินทร์ มีปริมาณการจราจรจำนวน 134,288 คันต่อวัน เมื่อมีโครงการมีปริมาณรถลดน้อยลงอยู่ที่ 126,725 คันต่อวัน ถนนกาญจนาภิเษก มีปริมาณการจราจร จำนวน 200,513 คันต่อวัน

เมื่อมีโครงการมีปริมาณรถลดน้อยลงอยู่ที่ 192,213 คันต่อวัน นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมต่อโครงการมีผู้เห็นด้วย 55.5%

ทั้งนี้ ในลำดับต่อไปจะส่งร่าง พ.ร.ฎ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดย ครม. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน