แกนนำนปช.แถลงทวงความยุติธรรมคดี 99 ศพ เหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 จ่อยื่น‘อสส.-ป.ป.ช.’เอาผิด มาร์ค-เทือก ลั่นมีหลักฐานใหม่ รื้อคดีสัปดาห์หน้า ขู่เอาผิดม.157

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นางธิดา และนพ.เหวง โตจิราการ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ ร่วมแถลงกรณีติดตามคดีทวงความยุติธรรม 99 ศพเหตุสลายชุมนุมกลุ่ม นปช.ปี 2553 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. โชคชัย4 ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบบางส่วน มาคอยสังเกตการณ์และดูแลความปลอดภัย

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นจำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ จำเลยที่ 2 เป็นจำเลยฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น แกนนำ นปช.ได้หารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย เห็นตรงกันว่าคดีนี้ ศาลฎีกาไม่ได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ พ้นผิดจากการสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 แต่เพียงการวินิจฉัยว่ากรณีนี้อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ ซึ่งสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 83 84 และ 288

เลขานปช. กล่าวว่า ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันคู่ความคือโจทก์ ได้แก่ พนักงานอัยการ และจำเลยทั้ง 2 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกา คือสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกาต่อไป

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แกนนำ นปช .จึงมีแนวทางดำเนินการทั้งทางกฎหมายและด้านอื่นๆดังนี้ 1.ผู้เสียหายในดคีนี้ไปยื่นคำร้องต่อ อสส.ในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนความผิดของจำเลยทั้ง 2 ว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา หาก ป.ป.ช.อ้างว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ก็ต้องรับฟังว่าขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ

ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาชี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-19 พ.ค.53 สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายและมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส เกิดการการปฏิบัติการทางทหาร ผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพซึ่งทั้ง 2 กรณียังไม่เคยมีในการไต่สวนครั้งก่อน ประกอบการหลักฐานอื่น ตามอำนาจหน้าที่ของ อสส. นอกจากนี้ เห็นว่า ป.ป.ช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไต่สวนจำเลยทั้ง 2 ตามมาตรา 157 ตามที่ศาลฎีกาตัดสินทันที แม้จะยังไม่มีผู้ร้องหรือยังไม่ได้รับเรื่องจาก อสส.ก็ตาม

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีหลักฐานใหม่ กรณีศาลอาญาไต่สวนชันสูตรสำนวนการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย ว่าเสียชีวิตจากกระสุนของฝั่งเจ้าหน้าที่ กรณีนี้ยังไม่ปรากฏในการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ยกคำร้องในรอบแรก

ดังนั้น ป.ป.ช. ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาพิจารณา รวมถึงกรณีการชันสูตรไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงขอเรียกร้องให้ ตร.ไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตให้ครบทุกราย หากเพิกเฉยเท่ากับเลือกปฏิบัติ อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 อสส.ต้องนำคำสั่งฟ้องเดิม ซึ่งมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ไว้แล้วฐานเจตนาฆ่าร่วมสำนวนของ ป.ป.ช. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาฯต่อไป กรณีที่เห็นว่า อสส.และ ป.ป.ช.มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับทั้ง 2 หน่วยงานในทุกบทบัญญัติ เช่น เอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือตามมาตรา 236 ที่ระบุให้รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 หมื่นชื่อ หรือจะให้ถึง 1 ล้านชื่อ เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนอิสระต่อ ป.ป.ช. และหากยังไม่ปรากฎความยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกจุดทุกเหตุการณ์ที่มีผู้สูญเสียตามคำวินิจฉัยแรกของ ป.ป.ช.ทุกกรณีตามพยานหลักฐานต่อไป

“เรื่องนี้เราไม่มีเป้าหมายแอบแฝงทางการเมืองอื่น เราจะไม่มีการเคลื่อนไหวเดินขบวนหรือปลุกระดมใดๆ แต่ถ้าปลุกได้ อยากปลุกสังคมไทยให้ตื่นมารับรู้ความจริงว่าคนถูกฆ่าตายเกือบร้อยคนกลางเมืองหลวง ผ่านไป 7 ปียังเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ ผมต้องการให้คดีนี้ไปถึงการพิจารณาในชั้นศาล เมื่อกระบวนการพิจารณาและคำพิพากษาเป็นอย่างไร พวกผมเคารพและพร้อมรับ” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นางธิดา กล่าวว่า นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว เรายังจะมีมาตรการทางสังคม การทำความจริงให้ปรากฏและเปรียบเทียบคำวินิจฉัยแห่งคดี เป็นเรื่องที่เราต้องทำ และเนื้อหาสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องนำเสนอต่อสังคมไทย และเวทีโลก ควรจัดเวทีวิชาการในทุกระดับทั่วประเทศให้นักวิชาการ ฝ่ายกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้องได้ถกเถียงกันในประเด็นนี้ เพื่อให้ความยุติธรรมขยายไปอย่างกว้างขวาง นี่ไม่ใช่ภารกิจของ นปช.อย่างเดียว แต่เป็นภารกิจของประชาชนที่จะกดดันให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นในประเทศนี้

ด้านนพ.เหวง กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนวนการไต่สวนคดีสลายการชุมนุม นปช.ของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธาน ป.ป.ช.ต่อสาธารณะ ซึ่งพวกตนพร้อมไล่ดูสำนวนทุกตัวอักษร เพื่อดูว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ เพราะเราเชื่อว่านายปานเทพทำสำนวนไม่ครอบคลุมและยังตกหล่นอยู่

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน