บช.น.แนะเส้นทางเลี่ยงม็อบ 14 ต.ค.ตั้งด่าน 21 จุดทั่วกรุง กันมือที่ 3 ป่วน เผยม็อบยังไม่ได้ขออนุญาตจัดการชุมนุม แต่เตรียมความพร้อม 100 % ดูแลความเรียบร้อย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. พล.ต.ต.ธีระพงษ์ วงษ์รัฐพิทักษ์ ผบก.จร. แถลงข่าวการเตรียมพร้อมการดูแลการจราจรกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ต.ค.นี้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

พล.ต.ต.จิรสันต์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ต.ค. อาจจะมีผลกระทบการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินกลาง เวลา 14.00 น.โดยทางบช.น. มีหลักการอำนวยความสะดวกด้านราจรจะไม่ปิดการจราจรเส้นทางบริเวณดังกล่าว โดยทางฝ่ายความมั่นคงจะจัดพื้นที่บริเวณฟุตปาธ เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นผิวการจราจร

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ชุมนุมลงมาบริเวณพื้นผิวการจราจรทำให้การจราจรไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้โดยปริยาย ก็จะปิดการจราจร 2 ระดับคือ 1.ปิดการจราจรในส่วนของถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่บริเวณแยกคอกวัวถึงแยกป้อมมหากาฬ ถนนดินสอจะปิดการจราจรตั้งแต่แยกมหรรณพ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงแยกสะพานวันชาติ

2.เมื่อกลุ่มชุมนุมมีจำนวนมากบริเวณถนนราชดำเนินกลาง จะปิดการจราจรบริเวณแยกผ่านพิภพลีลา เมื่อข้ามฝั่งมาจากธนบุรีให้เลี้ยวขวาใช้เส้นทางบริเวณถนนถนนอัษฎางค์ได้ตามปกติ

ส่วนอีกทางทิศเหนือแยกยมราช มาถึงแยกหลานหลวงสามารถเลี้ยวขวาขึ้นสะพานพระราม 8 ได้ตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเดินทางขอให้พี่น้องประชาชนวางแผนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง

“ส่วนเส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 5 เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนหลานหลวง, ถนนดินสอ, ถนนตะนาว และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยเฉพาะสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า อาจเกิดการจราจรติดขัดได้ ขอให้หลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางสะพานพระราม 8, สะพานกรุงธนบุรี, สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ, สะพานพระปกเกล้าฯ, สะพานตากสิน ใช้ได้ตามปกติ แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ไปจุดมดก็ตามอาจจะกระทบกับการจราจรจะปิดการจราจรก่อนถึงจุดที่จัดกิจกรรม 1 ทางแยก เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปก็จะเปิดช่องทางการจราจรตามปกติ” รองผบช.น. กล่าว

ส่วนการคาดการณ์ผลกระทบช่วงการชุมนุมนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า เนื่องจากในวันที่ 14 ต.ค. ไม่ใช่วันหยุด โดยปกตินั้นมีพี่น้องประชาชนใช้เส้นทางตามปกติ การชุมนุมจะมีผลกระทบต่อการเดินทางตามปกติอย่างแน่นอน ประกอบกับมีสถานศึกษามีผู้ปกครองมารับส่งบุตรหลานเวลา 16.00-17.00 น.

ซึ่งการชุมนุมบริเวณดังกล่าวอาจจะเลยมาถึงช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงช่วงเวลาเลิกงาน จึงจะต้องมีการวางแผนในการเดินทางอย่างน้อยไม่ต่ำ 30 นาที และรับข้อมูลข่าวสารปัญหาก็จะลกน้อยลง และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่ประสานกับโรงเรียนในการรับส่งบุตรหลาน

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทางบช.น.มีความพร้อมในการดูแลประชาชน ส่วนของผู้ชุมนุมในขณะนี้ยังไม่ได้ขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมแต่อย่างใด ขอเชิญชวนกลุ่มผู้ชุมนุมหารือเพื่อหาแนวทางร่วมกัน หรือประสานมาที่ผกก.ท้องที่นั้นๆ เพื่อขออนุญาตการชุมนุม โดยทางบช.น.มีหน้าที่รักษาความสงบในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็จะดูแลประชาชนบริเวณดังกล่าวเป็นหลัก และดูแลประชาชนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

ส่วนจะตั้งแนวแบริเออร์ตามเส้นทางถนนราชดำเนินหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางบช.น.เตรียมความพร้อมเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร.ดูแลงานความมั่นคง สั่งการกำชับการปฏิบัติให้เป็นด้วยความสงบเรียบร้อยปราศจากอาวุธ และทำให้ผลกระทบกับประชาชนอื่นๆ ให้น้อยที่สุด

เมื่อถามถึงการตั้งจุดคัดกรองผู้ที่จะมาเข้าร่วมการชุมนุมนั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทางบช.น.มีภารกิจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวมทั้งหมด พื้นที่กรุงเทพมหานคร การเคลื่อนกำลังของกลุ่มผู้ชุมนุมอาจะมีกลุ่มบุคคลไม่หวังดี หรือมีบุคคลที่ 3 หรือมีบุคคลที่อาจมาก่อความไม่สงบเรียบร้อย

โดยอาศัยการชุมนุมมาก่อเหตุดังกล่าว พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รองผบช.น.ดูแลงานป้องกันปราบปราม ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อหาแนวทางตั้งจุดตรวจจุดสกัดป้องกันอาชญากรรมหรือป้องกันเหตุร้ายแล้ว ส่วน 21 จุดที่จะนำกำลังตำรวจไปวางนั้น พูดไปแล้วก่อนหน้านี้คือตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย

ส่วนจะมีผู้ไม่หวังดีมาก่อเหตุหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ก็เป็นหน้าที่ที่บช.น.จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเพมหานครอยู่แล้ว ถ้ามีความจำเป็นในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดก็อาจจะตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันอาชญากรรมหรืออาชญากร ใช้ช่วงโอกาสที่ตำรวจเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยช่วงการชุมก่อเหตุ ลักวิ่งชิงปล้นหรือเหตุอื่นๆ

ส่วนจะตั้งศูนย์ปฏิบัติหรือไม่ ยืนยันว่ามีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวตั้งแต่ 13 ต.ค.เป็นต้นไป เพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่สังคมกังวลกรณีที่ผู้ชุมนุมอาจส่งผลกระทบกับเส้นทางเสด็จฯ ยืนยันว่า บช.น.มีแผนเตรียมพร้อมรองรับเพื่อถวายความปลอดภัยฯ และเชื่อว่าจะไม่มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ที่มารอรับเสด็จฯ โดยเตรียมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไว้คอยดูแลแล้ว

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการเข้มข้นกว่าวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมาหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า การดำเนินการต่างๆ มีลักษณะคล้ายกันคือมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 3 โซน คือ โซนแรกบริเวณสนามหลวง ท่าพระจันทร์ ถนนราชดำเนินใน มีพล.ต.ต.เมธี รักษ์พันธุ์ ผบก.น.6 รับผิดชอบ

ส่วนโซนที่ 2 คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง มีพล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผบก.น.1 ส่วนโซนที่ 3 ถนนราชดำเนินนอก แยกมัฆวาน มีพล.ต.ต. มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผบก.อคฝ. เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมบริเวณดังกล่าว

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกว่าหากกลุ่มผู้ชุมนุม จะเคลื่อนที่ไปยังจุดอื่นๆ ระบุว่าจะใช้แนวทางปิดการจราจรชั่วคราว ก่อนถึงจุดจัดกิจกรรม 1 ทางแยก และเปิดการจราจรตามปกติ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านไปแล้ว แต่ขอให้ประชาชนที่ไม่มีความจำเป็น หลีกเลี่ยงเส้นทางโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อลดผลกระทบการจราจรในภาพรวม

รายงานข่าวแจ้งว่า บช.น. ออกแผนการตั้งจุดตรวจความมั่นคงและป้องกันอาชญากรรม ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เวลา 08.00 น. ถึงวันที่ 16 ตุลาคม เวลา 24.00 น. จำนวน 21 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 ถนนสามเสน หน้าห้างสุพรีม ท้องที่ สน.บางโพ จุดที่ 2 หน้าศูนย์เชฟโรเลตราชเทวี ถนนเพชรบุรี ท้องที่ สน.พญาไท จุดที่ 3 ข้างวัดราชนัดดา ถนนมหาไชย สน.สำราญราษฎร์ จุดที่ 4 บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า (ขาเข้า) ท้องที่สน.บางยี่ขัน

จุดที่ 5 บริเวณเชิงสะพานกรุงธน (ขาเข้า) ท้องที่สน.บางพลัด จุดที่ 6 บริเวณใกล้แยกประชาชื่น ถ.ประชาชื่น-ขาเข้า แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ท้องที่ สน.เตาปูน จุดที่ 7 ใต้ด่วนลาดพร้าว ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ขาเข้า ท้องที่สน.โชคชัย จุดที่ 8 ปากซอยพระรามเก้า 46 ถนนพระรามเก้า ขาเข้า ท้องที่สน.หัวหมาก จุดที่ 9 บริเวณแยกคลองเตย ถนนรัชดาตัดพระราม 4 ขาเข้า ท้องที่สน.ท่าเรือ

จุดที่ 10 บริเวณถนนประชาธิปก ขาเข้าก่อนขึ้นสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้า ท้องที่สน.บุปผาราม จุดที่ 11 บริเวณปากซอยพหลโยธิน 52 ถนนพหลโยธิน-ขาเข้า แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพฯ ท้องที่สน.บางเขน จุดที่ 12 บริเวณถนนสุวินทวงศ์ ขาเข้า (แยกมหานคร ถนนสุวินทวงศ์) ท้องที่สน.ลำผักชี จุดที่ 13 บริเวณถนนลาดกระบัง ขาเข้า (แยกสนามบินสุวรรณภูมิ ถนนอ่อนนุช) ท้องที่สน.จรเข้น้อย

จุดที่ 14 บริเวณปากซอยสุขุมวิท 70 ขาเข้า ท้องที่สน.บางนา จุดที่ 15 จุดกลับรถหน้าวัดสน ถนนสุขสวัสดิ์ (ขาเข้า) ท้องที่สน.ราษฎร์บูรณะ จุดที่ 16 บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนพระราม 2 ขาเข้า ท้องที่สน.แสมดำ จุดที่ 17 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ถนนเพชรเกษม ขาเข้า ท้องที่สน.หนองค้างพลู จุดที่ 18 ปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 ท้องที่งานศูนย์ควบคุมจราจรวิภาวดีรังสิต/ทางพิเศษ กก.2 บก.จร.

จุดที่ 19 ด่านดอนเมือง 2 (บนทางยกระดับดอนเมืองขาเข้า) ท้องที่งานศูนย์ควบคุมจราจรวิภาวดีรังสิต/ทางพิเศษ กก.2 บก.จร. จุดที่ 20 บริเวณด่านจตุโชติทางพิเศษฉลองรัช ขาเข้า ถนนทางพิเศษฉลองรัช ท้องที่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1 กก.2 และ จุดที่ 21 ด่านบางจาก ถนนยกระดับบูรพาวิถี ขาเข้า ท้องที่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1 กก.2

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน