เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 จากการชุมนุมของคณะราษฎรที่รวมตัวกันบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ก่อนรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และเข้าสลายการชุมนุม พร้อมจับกุมแกนนำ ทำให้ผู้ชุมนุมได้ย้ายมารวมตัวกันบริเวณแยกราชประสงค์และชุมนุมในวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมนัดชุมนุมอีกครั้งในเวลา 17.00 น. วันที่ 16 ต.ค. แต่เจ้าหน้าที่ได้คุมสถานที่ไว้ทั้งหมด ทำให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันจนต้องปิดการจราจรแล้วนั้น
เกาะติดข่าว การชุมนุม ติดตามไลน์ ข่าวสด
เมื่อเวลา 17.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประกาศที่ 4 เรื่องห้ามมิให้ชุมนุมมั่วสุม ขอย้ำว่าไม่ให้ชุมนุมมั่วสุม ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และห้ามกีดขวางจราจร ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร ที่นำเสนอข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
โดยจากประกาศฉบับที่ 3 ได้มีประกาศเพิ่มเติม คือ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ดังต่อไปนี้เว้นแต่ได้รับอนุญาต คือ 1 ถนนพญาไท ตั้งแต่ราชเทวีถึงสามย่าน 2 ถนนพระราม 1 จากแยกเฉลิมเผ่า-แยกเจริญผล และห้ามเข้าไปในสถานที่ดังต่อไปนี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 -02.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาต คือ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม สนามกีฬาแห่งชาติ ราชเทวี ทางเชื่อมระหว่างตึก หรือ สกายวอล์ก ตั้งแต่บีทีเอสสยาม – สนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสามย่าน
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียยุยงปลุกปั่น ชวนเข้าชุมนุม ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การโพสต์บิดเบือนสร้างเฟกนิวส์ การเช็คอิน มีรูปตัวเองร่วมการชุมนุม อย่ามองว่าเป็นเรื่องโก๋เก๋กระทำได้ นั่นเป็นการรับสารภาพ โดยมีพยานหลักฐานเป็นรูปที่เข้าสู่สังคมออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
หากการกระทำเข้าข่ายความผิดอื่นใด เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็มีความผิดตามเรื่องนั้นๆ โดยกระทรวงดิจิตอล มีทีมเฝ้ามอนิเตอร์ เบื้องต้นดำเนินคดีไปแล้ว 10 ราย แบ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊ก 5 ราย และ ทวิตเตอร์อีก 5 ราย ซึ่งทางกระทรวงได้เตรียมมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย เข้าแจ้งความกับตำรวจปอท. เร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง