เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ ซึ่งติดตามคดีทางการเงินที่สร้างความเสียหายต่อชาติมาหลายคดี ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะเข้ายื่นหนังสือต่อดีเอสไอให้ตรวจสอบข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีฟอกเงินของธนาคารกรุงไทย ถึงความผิดปกติและเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากมติกรรมการคดีพิเศษ รับคดีที่ คตส.ส่งมาให้ดำเนินคดีฟอกเงิน 3,554,870,000 บาท กับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ แต่ดีเอสไอไม่ได้เรียกทั้งหมดมาสอบสวน ทั้งที่ควรเรียกมา สอบสวนก่อน ส่วนจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เบื้องต้นต้องสอบสวนก่อน

นายวันชัย กล่าวต่อว่า โดยทั้ง 5 คนที่ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อจากการติดตามตรวจสอบ ประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ นายวิโรจน์ นวลแข นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม โดย 3 คนแรก ศาลสั่งจำคุกในคดีปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร จะได้ตัวมาหรือไม่ได้ตัวมาสอบสวนแต่ก็ต้องเรียกมา สอบตามขั้นตอน ตาม ป.วิอาญา ม.131 และ ม.141 อย่างนี้เท่ากับดีเอสไอทำผิดมาตรา 157 หรือไม่ และนอกจากไม่สอบสวนให้ครบถ้วนตามขั้นตอนยังไปดำเนินคดีกับคนไม่กี่คนในกลุ่มของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ไม่ได้รับเงินโดยตรงจากเครือกฤษดา โดยพาดพิงว่าเป็นการรับเงินปากถุง ทั้งที่ช่วงเวลาไม่ตรงกัน

นายวันชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตามกฎหมายฟอกเงิน ปปง.สามารถติดตามเอาทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิดได้ ตามมาตรา 49 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ปปง.สามารถบังคับติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำ ความผิดคืนแก่ธนาคารกรุงไทยได้ เบื้องต้นเห็นว่านิติบุคคลที่ต้องถูกบังคับให้เอาเงินคืนธนาคารกรุงไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ที่ศาลฎีกาตัดสินว่าเงินจากธนาคารกรุงไทยที่โอนไปเป็นเงินจากการทุจริต คือ เงินที่ธนาคารกรุงเทพได้รับไว้จากการกระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 วันที่ 26 ส.ค. 2558 ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพต้องนำเงินคืนธนาคารกรุงไทย เป็นอันดับแรก คือ เงินที่ธนาคารกรุงไทยโอนเข้าธนาคารกรุงเทพ รวมเป็นเงินประมาณ 9,900 ล้านบาท ซึ่งปปง.ต้องทำประเด็นนี้ก่อน ก่อนที่จะไปตามจากบุคคลอื่นๆ ที่ไปรับเงินโอนจากกลุ่มกฤษดา มหานครหลังจากวันที่ 18 ธ.ค.2546

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ยังพบว่า ตามคำพิพากษาของศาลฎีกานั้นวินิจฉัยไว้ทำนองว่า ไม่มีพยานปากไหนหรือพยานใดๆ ยืนยันให้เห็นว่า อดีตนายกฯทักษิณเกี่ยวข้องกับการสั่งการหรือการอนุมัติสินชื่อธนาคารกรุงไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน