รอง ผบช.น. เผย กรุงเทพมหานคร แจ้งดำเนินคดีผู้ชุมนุมจัดกิจกรรม ราษฎรสาส์น ​ระบุต้องแบ่งคดีออกเป็น 2 คดี แจงปมใช้รถเมล์ขวางผู้ชุมนุม

วันที่ 13 พ.ย.2563 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. กล่าวถึงการดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุมราษฎรสาส์น เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การดำเนินคดีแบ่งออกเป็น 2 คดีคือ คดีแรกเป็นคดีพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ ความผิดฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกดำเนินคดี 14 ราย ส่วนพื้นที่ สน.ชนะสงคราม เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาด กรุงเทพมหานครได้มาแจ้งความร้องทุกข์เรียบร้อย มีผู้กระทำความผิด 3 ราย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ซึ่งเป็นผู้นำเอาตู้ไปรษณีย์สีแดงเข้ามาในพื้นที่ เมื่อดำเนินการเกี่ยวกับความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดแล้วจะส่งพยานหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ตรวจสอบข้อความในจดหมาย นำไปประกอบความผิดที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

รอง ผบช.น. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการนำรถโดยสารประจำทางมาใช้เป็นเครื่องกีดขวางการชุมนุมนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้หารือกับผู้แทนของ ขสมก.เรียบร้อยแล้ว การดำเนินการต่างๆ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นพยานหลักฐานนำไปสู่การฟ้องร้อง และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวด้วยว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ที่มีการปิดสนามบินมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 522 ล้านบาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำเลยทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว คดีมีการวางเพลิงเผาทรัพย์อาคารพาณิชย์บริเวณแยกราชปรารภมีการฟ้องจำเลย 3 ราย ให้ชดใช้คือแกนนำที่กระทำความผิด และคดีปิด ปตท.ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย 4 รายชดใช้เงินค่าเสียหาย 9.7 ล้านบาท ขอให้ขสมก.ไม่ต้องกังวลปัญหาดังกล่าว

“ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถ ขสมก.มาใช้นั้น ไม่ว่าขสมก.จะวิ่งหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ปฏิบัติราชการ หากมีผู้หนึ่งผู้ใดนำมาใช้ให้เกิดความเสียหาย ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตตำรวจนำมาใช้นั้น ได้พิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว โดยเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันจึงประสานงานขออนุญาตนำมาใช้โดยการหารือกับขสมก.” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว

________________________________________________

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน