เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเอกฉันท์ พิพากษาให้จำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ม.123/1 ซึ่งบทหนักสุดที่ละเลยการตรวจสอบระบายข้าวจีทูจีจนทุจริตเสียหายกับกระทรวงคลัง ประเทศชาติ โดยศาลให้ออกหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป

โดยเวลา 09.00 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน นัดอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมานัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จำเลย ไม่มาศาลตามนัด ซึ่งครั้งแรกมีเพียงทนายความมาศาลแล้วยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดอ้างเหตุ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะรุนแรง แต่ฝ่ายอัยการโจทก์คัดค้านไม่เชื่อว่าป่วย เพราะไม่มีใบรับรองแพทย์ อีกทั้งไม่เชื่อว่าอาการนั้นจะหนักจนไม่สามารถมาศาลได้ ขณะที่องค์คณะฯ ก็เห็นว่าน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี จึงสั่งปรับนายประกันเต็มวงเงินในสัญญาประกัน 30 ล้านบาท และให้ออกหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อติดตามตัวมาฟังคำพิพากษา โดยนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ย. แต่เมื่อวันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาแสดงตัวต่อศาล และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดตามตัว จำเลยมาศาลได้ตามหมายจับ องค์คณะฯ จึงปฏิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยทันที โดยถือว่าจำเลยรับทราบผลคำพิพากษาแล้ว ซึ่งฝ่ายอัยการสูงสุดโจทก์ มีคณะทำงานอัยการ ร่วมฟังคำพิพากษา ส่วนฝ่ายจำเลยมีคณะทนายความจำเลย และผู้ติดตาม 2 ฝ่ายจำนวนหนึ่งมาศาล

อย่างไรก็ดีแม้ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาออกมาแล้วแต่ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฯ ใหม่ ปี 2560 แล้ว ซึ่งมาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติรับรองสิทธิคู่ความในคดียื่นอุทธรณ์คดีได้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา

ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ต่อศาลเมื่อวันที่ 19 ก.พ.58 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่มีการกำหนดกรอบวงเงิน ดำเนินการ 5 แสนล้านบาท กระทั่งทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งกระทรวงการคลังสรุปตัวเลขความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 และ ปี2556/2557 เป็นเงิน 178,586,365,141.17 โดยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 และ 10 ในเฉพาะส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย ซึ่งคิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

โดยระหว่างการพิจารณา อัยการโจทก์ นำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 15 ปากพร้อมเอกสารหลักฐานกว่า 60,000 แผ่นรวมประมาณ 20 ลัง ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพยานไต่สวนแก้ต่างสู้คดีรวม 30 ปาก ซึ่งศาลได้ไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 21 ก.ค. และให้น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อยู่ต่อสู้ตามกระบวนพิจารณาคดีมาโดยตลอด กระทั่งได้หลบหนีเดินทางออกนอกประเทศก่อนนัดฟังคำพิพากษาเดือนส.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการออกคำสั่งทางปกครองโดยกระทรวงการคลัง แจ้งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ระงับการอายัดบัญชีเงินฝาก 7 บัญชีไว้ก่อน ซึ่งศาลปกครองกลางส่งหมายวันที่ 24 ก.ค.ให้กระทรวงการคลังส่งเอกสารชี้แจงขั้นตอน การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับมาตรการยึดอายัดทรัพย์ ถึงหตุผลการอายัดบัญชี และความจำเป็นการอายัดทรัพย์ รวมถึงรายละเอียดกระบวนการในการยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดี ต่อศาลภายใน 15 วัน แล้วกระทรวงการคลังก็ส่งเอกสารชี้แจง ถึงศาลแล้วเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่องค์คณะเจ้าของสำนวนรวบรวมข้อเท็จจริงจากเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายชี้แจงมาโดยยังไม่มีการไต่สวนบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคำวินิจฉัยส่วนกลางฉบับเต็มในคดีนี้ต้องรออีกประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะมีการเผยแพร่ ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนต้องรออีก 1 เดือนหลังจากนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน