อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสอบโรงพยาบาลเอกชนที่ให้การรักษา พริตตี้วาวา พบผิดเต็มๆ 2 กระทง ทั้งไร้การคัดแยกระดับความฉุกเฉินผู้ป่วยเมื่อแรกรับ และมีการจัดทำเอกสารเท็จ ไม่รอช้าสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงดาบตามกฎหมายสถานพยาบาลทันที

จากกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมมารดาของพริตตี้ วาวา เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเขตจตุจักร มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจนเป็นเหตุให้เกิดการรักษาล่าช้าและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น

วันที่ 12 มี.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า เมื่อกรม สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ตนก็ได้มอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ไขข้อกระจ่างเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายทันที

จากการสอบของ คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน เมื่อบ่ายวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติว่าโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวมีการกระทำผิดจริง จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ใน 2 ข้อหา

ประกอบด้วย 1.ความผิดตามมาตรา 36 เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุคือวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สถานพยาบาลไม่มีการคัดแยกผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ในระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นเหตุให้เกิดการคิดค่าบริการในขณะที่ให้บริการ ซึ่งเป็นที่มาของการร้องเรียนการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ตามมาตรา 73 เนื่องจากในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมีการเรียกเก็บค่าอาหารจากผู้ป่วยเป็นจำนวนเงิน 400 บาท โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รับบริการ จึงถือว่าเป็นการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการปฏิเสธหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจน ยิ่งในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากโรคประจำตัวระหว่างเดินทางเพิ่มมากขึ้น ตนได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ มีการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลเอกชนอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่บนเส้นทางหลักที่มีการสัญจรคับคั่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินตนและครอบครัวจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานอย่างแน่นอน และหากประชาชนพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้แจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน