เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับผู้บริหารเว็บไซต์กูเกิ้ล และยูทูบ รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแล อาทิ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.), กสทช. โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ทั้งสองเว็บไซต์ยืนยันว่าให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่าน และพร้อมปรับแนวทางเพิ่มเติม มีการตั้งทีมงานเข้ามาดูแลเฉพาะในกรณีของประเทศไทย ซึ่งจะมีคนไทยอยู่ในทีมงานเฉพาะกิจนั้นด้วย และจะเป็นแบบฟอร์มเป็นภาษาไทยเพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษ เพื่อจะดูข้อมูลที่มีการร้องเรียนเข้ามา ให้เกิดความรวดเร็วในการส่งข้อมูลจากฝ่ายประเทศไทยไปถึงทีมงานที่สหรัฐฯ เร่งแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยแบบฟอร์มดังกล่าวจะมีการระบุ ยูอาร์แอล และช่วงเวลาที่มีการเข้าไปใช้เว็บไซต์ในเบื้องต้นก่อน

จากนั้นจะมีคำสั่งศาลส่งตามไปเพื่อให้ดำเนินการแก้ปัญหา นอกจากนั้นเราได้แจ้งกับผู้บริหารฯ ไปว่ามีกลุ่มคนไทยที่รักและปกป้องสถาบันได้ติดตามเรื่องนี้ และคาดหวังว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ตำรวจ และหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลจะมีมาตรการจัดการปัญหาความไม่เหมาะสมต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวแทนผู้บริหารเว็บไซต์ทั้งสองแสดงเจตนาว่าในช่วงเวลานี้จะให้ความสำคัญมาที่ประเทศไทย เพราะทราบดีว่าความรู้สึกของคนไทยที่สูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างไร แล้วยังถูกโจมตีจากเว็บที่บิดเบือนซ้ำอีก ก็จะดำเนินการตามที่เราร้องขอ ซึ่งเป็นเจตนาที่ดีและเป็นในเชิงบวก
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เราได้จัดทีมงานประสานโดยตรง กับทางกูเกิ้ลและยูทูบ โดยให้มีผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลฯ และมีเจ้าหน้าที่ชุดใหม่ให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างครอบคลุมและทันเหตุการณ์ โดยจะเริ่มดำเนินการตามที่พูดคุยตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.นี้ และเชื่อว่าเมื่อมีทีมงานเข้าไปประสานโดยตรง การแก้ปัญหาจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง และจะเร่งเรื่องของการขอหมายศาลให้เร็วขึ้นเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีทีมงานเฉพาะกิจก็จะทำให้กระบวนการต่างๆเร็วขึ้น ถ้ามีการตรวจพบข้อความที่ไม่เหมาะสมที่ปรากฎทางเพจ หรือวิดีโอคลิป เขาก็จะดำเนินการให้ โดยมีเงื่อนไขว่าทางไทยต้องส่งหมายศาลตามไปยืนยันว่าเป็นการกระทำความผิด

สำหรับประเด็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ การขอยูสเซอร์และไอดีของผู้ใช้งาน ทางกูเกิ้ลและยูทูบรับทราบและเข้าใจ แต่ต้องมีการปรับข้อตกลงระหว่างประเทศในการขอข้อมูลผ่านทางรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 22 ต.ค.นี้เราจะทำเรื่องเพื่อให้ รมว.ดิจิทัลฯ สั่งการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทางสหรัฐฯ พิจารณาการขอใช้สิทธิ์ดังกล่าว หากสหรัฐฯและไทยมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องของลิขสิทธิ์ และสิทธิมนุษยชน ทางกูเกิ้ลก็จะอนุญาตเราทันที อย่างไรก็ตามเราได้ทวงถามข้อมูลที่เคยประสานไปก่อนหน้านี้เพื่อให้ส่งกลับมาและทำการระงับยับยั้งการโพสต์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้บริหารเว็บไวต์ก็รับทราบ เมื่อเราส่งข้อมูลยืนยันก็จะดำเนินการให้ทันที ส่วนเว็บไซต์อื่น ทั้งเฟซบุ๊กและแอพพลิเคชั่นไลน์ ได้เตรียมตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค กฎหมาย ภาษา ทีมละประมาณ 5 คน เพื่อเตรียมประสานหารือกับเว็บอื่นต่อไป

“เราพยายามทำทุกอย่างให้ดีและรวดเร็วที่สุด แต่ยังติดที่เรื่องเทคนิคและกฎหมายบางส่วน แม้จะมีคนพูดว่าประสานบางอย่างได้ แต่เราก็จะทำเหมือนเดิม ไม่ใช่จะระงับไป วันนี้มีการตรวจพบจำนวนหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 19 และ 20 ต.ค. มีจำนวน 120 ราย ซึ่งไม่ค่อยพบว่าเป็นต่างชาติ และก่อนหน้านั้นก็มีอีกจำนวนหนึ่ง และในวันที่ 22 ต.ค.จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อไปตรวจสอบ ส่วนรายละเอียดต้องขออนุญาตไม่อยากให้ออกไปแล้วสื่อในลักษณะซ้ำเติมความรู้สึกประชาชน แต่ให้รับทราบว่าเราจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน