สรรพสามิต ลั่น ไม่ได้เรียกเก็บค่าปรับแม่ค้าน้ำส้ม 12,000 บาท ท้าโชว์หลักฐาน ชี้กล้องวงจรปิดของร้าน ยืนยันข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด แต่ล่อซื้อจริง

16 มิ.ย. 2564 – จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เข้าทำการจับกุมผู้ขายน้ำส้ม จำนวน 500 ขวด และมีการเรียกค่าปรับเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท จนมีคนวิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์ความเหมาะสมในการทำงานของกรมสรรพมิต อย่างกว้างขวาง

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวกรมสรรพสามิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจริง แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท ทุกอย่างมีหลักฐาน กล้องวงจรปิดของร้าน ยืนยันข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด

ในส่วนของการล่อซื้อ โดยการสั่งให้ผลิต 500 ขวด เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ที่เก็บรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ร้านดังกล่าวประกอบกิจการในลักษณะผู้ประกอบอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขชัดเจน ว่ามีเครื่องจักรสำหรับการผลิต และขายส่งในปริมาณมากทุกวัน จึงต้องมีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นการปรักปรำผู้ประกอบการ

ในกรณีนี้ ขอแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เจ้าหน้าที่กรม กับ ผู้จัดการร้านค้า ซึ่งในวันเกิดเหตุ กรมได้ลงพื้นที่ เพราะมีผู้แจ้งเบาะแส ว่ามีการผลิตในลักษณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีการขายส่ง แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเสียภาษีให้ถูกต้อง จึงเข้าไปแนะนำ ซึ่งผู้จัดการก็เข้าใจ และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเข้าไปจดทะเบียนให้ถูกต้องกับกรมในวันต่อมา

ทั้งนี้ไม่ได้มีการจับกุม เรียกเก็บค่าปรับ หรือยึดสินค้าใด ๆ กลับมาที่กรม แต่ให้ข้อมูลว่าจากจำนวนสินค้าในสถานที่ประกอบอุตสาหกรรม เมื่อคำนวนเป็นเม็ดเงินภาษี จะอยู่ที่ราว 1,200 บาท แต่เมื่อไม่มีการจดเสียภาษีถูกต้อง จะเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 10 เท่า จึงคำนวน มาอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ไม่ได้มีการเรียกเก็บแต่อย่างใด

2.สาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก มาจากตัวเจ้าของกิจการ ที่โพสต์รายละเอียดดังกล่าว ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งข้อมูลบางเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้กรมได้รับความเสียหาย แต่ต่อมาได้ปิดเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งกรมก็ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ และยืนยันจะไม่ฟ้องร้องเอาผิดใด ๆ

“วันเกิดเหตุ มีกล้องวงจรปิด ถ้ากล่าวหาเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ขอให้เอาหลักฐานมาเลย กรมพร้อมจะดำเนินกับเจ้าหน้าที่ทุกคน”

นายณัฐกร กล่าวต่อว่า ขอให้พ่อค้าแม่ค้า ที่ขายน้ำผลไม้ หากมีการคั้นสด ขายปลีกขวดต่อขวด ไม่ได้ขายส่งในปริมาณมาก ไม่มีเครื่องจักร ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ถือว่า ต้องเสียภาษี และกรมไม่มีนโยบายเข้าไปตรวจจับ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชน เว้นเสียแต่ว่าได้รับการแจ้งเบาะแส จึงต้องลงไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่จดทะเบียนเสียภาษีกับกรมถูกต้อง จะต้องเสียภาษีเครื่องดื่มผลไม้ในอัตรา 10% ของราคาขายปลีก แต่ถ้ามีส่วนผสมของผลไม้สดเกิน 20% ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี รวมทั้งเสียภาษีความหวาน ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน