กรมสุขภาพจิต ห่วงคนไทยสมัยใหม่ป่วยเป็นโรคบีดีดี!! เพิ่มขึ้น จากเหตุคิดหมกมุ่นกังวลรูปลักษณ์ตัวเองเกินเหตุว่ายังไม่ปัง เป๊ะ เว่อร์พอ ผู้เชี่ยวชาญคาดขณะนี้ชายหญิงประมาณ1 ใ น 3 มีปัญหาแล้ว แนวโน้มพบในชายโสดวัย15-30 ปีมากขึ้น คาดเป็นผลจากการโฆษณาและค่านิยมใหม่ของสังคมที่ให้คุณค่ารูปลักษณ์โดยเฉพาะวงการบันเทิง แนะทางแก้ที่ได้ผลดีต้องปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรักษาและปรับความคิดยอมรับเรื่องคุณค่าภายใน ความแตกต่าง ชี้การแก้ไขด้วยการตัด เติม เสริมให้ได้ดั่งใจหวัง มักไม่ประสบผลสำเร็จ ก่อให้เกิดความเครียดรุนแรงขึ้น ซึมเศร้า หนีสังคม ถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน โดยเฉพาะโรคบีดีดี ( Body Dysmorphic Disorder :BDD ) หรือโรคคิดหมกมุ่น ซึ่งเกิดจากการให้คุณค่าเรื่องรูปลักษณ์ของตนเองมากจนเกินไป หรือมีความคาดหวังเกิดขึ้น อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่สามารถยอมรับรูปลักษณ์ของตนเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ทั้งๆที่รูปร่างตนเองก็เป็นปกติทั่วไป จนเกิดความทุกข์ เครียด วิตกกังวล อย่างซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือเกิดข้อจำกัดต่างๆทางสังคม รวมทั้งสัมพันธภาพกับคนอื่น โดยพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ร้อยละ 1.7 ในผู้หญิงพบร้อยละ 1.9 ผู้ชายร้อยละ 1.4

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า โรคบีดีดีนี้ ในทางจิตวิทยาเชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากค่านิยม เช่นความงาม และความเชื่อทางสังคม เช่นเชื่อเรื่องขนาดของอวัยวะเพศกับความสุขทางเพศกับฝ่ายหญิง จึงพยายามทำทุกทางเพื่อให้เป็นอย่างที่หวัง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งและอาจทำให้อัตราการป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นได้ คือกระแสสังคมขณะนี้ให้ค่านิยมเรื่องความสวยความงามทิศทางเดียวกันทั่วโลก เพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น มีการโฆษณาโดยเฉพาะวงการบันเทิงตามสื่อต่างๆจำนวนมาก จึงเป็นตัวกระตุ้นอยากจะให้ตัวเองดูดีหรือที่นิยมพูดกันว่า ปัง เป๊ะ เว่อร์ เหมือนกับพรีเซนเตอร์ พยายามหาจุดตำหนิ เช่นริมฝีปากหนา กล้ามเนื้อเล็กไปหน่อย สีของฟันไม่ขาว ทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ เพื่อแก้ปัญหาจุดที่ตัวเองคิดว่ายังไม่ดี เช่นบางคนออกกำลังกายหรือเข้าฟิตเนสอย่างหักโหม เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ พบทันตแพทย์หรือเข้าคลินิกความงามบ่อยๆซ้ำๆ

“ ผู้ที่น่าห่วงที่สุดคือผู้ที่ทำแล้วผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ยิ่งก่อให้เกิดความกังวล ความเครียดจากการคิดหมกมุ่น มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ลงท้ายด้วยการมีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว หลีกหนีสังคม , โดยร้อยละ 70 มีภาวะเครียดรุนแรง และพบร้อยละ 20 มีการทำร้ายตัวเองในที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ผลการวิจัยในแถบยุโรป อเมริกา ในช่วง10 ปีมานี้ พบประชาชนทั่วโลกมีความคิดหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับร่างกายตัวเองแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยเฉลี่ยร้อยละ 34 ในผู้หญิงพบได้ร้อยละ 41 ผู้ชายพบร้อยละ 27 และเป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้ชายพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าอดีตประมาณ 2 เท่าตัว จะพบมากในกลุ่มโสดอายุระหว่าง 15-30 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี ในส่วนของประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสถิติไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ส่วนของร่างกายที่มีการคิดหมกมุ่นมากอันดับ 1 ได้แก่ปัญหาเส้นผม เช่นผมบาง / หนาเกินไป ร้อยละ 63 รองลงมาคือปัญหาเกี่ยวกับจมูก เช่นจมูกไม่โด่ง จมูกเบี้ยว และปัญหาสุขภาพผิว เช่น สิว ปาน ไฝ พบร้อยละ 50 เท่ากัน ,ปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น ตาชั้นเดียว ตาเล็ก หนังตาตก ร้อยละ 27 ,ปัญหาโครงสร้างร่างกายเช่น อ้วน ผอม หรืออยากมีกล้ามเนื้อ ร้อยละ 20 ,ปัญหาริมฝีปาก เช่นหนาหรือบางเกินไป ,ปัญหาเกี่ยวกับคาง กรามเป็นเหลี่ยม พบร้อยละ17 เท่ากัน ,ปัญหาเรื่องฟัน เช่น ฟันเหลือง ฟันห่างร้อยละ 13

นายแพทย์ธิติพันธ์กล่าวต่อว่า ในการสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคบีดีดี หรือไม่ ให้เริ่มจาก การมีความคิดว่ามีบางส่วนบนร่างกายตัวเองผิดปกติหรือมีส่วนที่ต้องการจะแก้ไขให้มันดีขึ้น ร่วมกับการมีพฤติกรรมหรือความกังวล ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ 1. กังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติของตัวเอง 2. พยายามปกปิดส่วนนั้นของร่างกายไว้ 3. ส่องกระจกตรวจสอบความผิดปกติบ่อยครั้ง 4. หลีกเลี่ยงการส่องกระจกหรือเงาสะท้อน 5. พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขความผิดปกติ เช่นการเข้าฟิตเนส เพิ่มกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากมีตามที่กล่าวมา แสดงว่าเริ่มเป็น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ ซึ่งที่โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เริ่มพบผู้ป่วยประเภทนี้เข้ารักษาเฉลี่ยเดือนละ 10-20 ราย ส่วนใหญ่จะมีอาการในกลุ่มเครียดหรือกังวล

ในการป้องกันหรือลดทอนความคิดหมกมุ่นรูปลักษณ์ตัวเอง มีข้อแนะนำดังนี้ 1. รับข้อมูลผ่านสื่อโดยใช้วิจารณญาณ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละคน ตั้งแต่สีผิว รูปร่าง โครงสร้าง หน้าตา การจะให้เหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้ 2. อวัยวะร่างกายแต่ละส่วนที่ได้มาตั้งกำเนิด ถูกสร้างมาเพื่อใช้งานเป็นหลัก ความสวยงามถือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งอวัยวะนั้นอาจมีจุดบกพร่องเรื่องความสวยงามไปบ้าง แต่ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ก็จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ตามปกติ 3. ให้มองที่คุณค่าภายในของคน ไม่ใช่มองที่รูปร่างหน้าตาภายนอกเท่านั้น และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงตามกฎแห่งธรรมชาติ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน และไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ 4. ปรับความคิด หากทุกคนหน้าตาเป๊ะ เวอร์ ขาวใสเหมือนในโฆษณาหมด จะทำให้คนที่มีหน้าตาธรรมดา ผิวเข้ม จะกลายเป็นผู้โดดเด่นสะดุดตาไปทันที โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

สำหรับการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคบีดีดี ที่ได้ผลดีที่สุดคือการรับประทานยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมและยับยั้งความคิดได้ ใช้เวลารักษา 6-9 เดือน ควบคู่กับการทำจิตบำบัด ปรับความคิดผู้ป่วยและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของส่วนต่างๆของร่างกาย แนะนำวิธีการจัดการความกังวลที่เหมาะสม ส่วนการรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์ เช่นผ่าตัดแก้ไข มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากหลังแก้ไขผู้ป่วยก็จะยังไม่พอใจ และอาจยิ่งกังวลเพิ่มไปอีก ทำให้ต้องเข้าไปแก้ไขซ้ำๆ ต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด และอาจเกิดปัญหาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน