ศธ. โต้ปม ยิ่งลักษณ์ จี้ใช้แท็ปแล็ตเรียนออนไลน์ ชี้ มีผลวิจัย ตอบสนองการเรียนรู้ต่างกัน พบเด็กหลายคนถอดใจ เลิกเรียนกลางคัน

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ เรียกร้องให้รัฐบาลนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ ในการเรียนออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และลงทุนให้ทุกโรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งครูและนักเรียน นั้น ศธ.ได้จัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ จำนวน 8 แสนเครื่อง ในปี 2555 และปี 2556 และจัดซื้อครั้งที่ 2 สำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1 จำนวน 1 แสน 6 หมื่นเครื่อง

ต่อมาปี 2557 ได้มีการประเมินผลการใช้แท็บเล็ต ในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน สรุปดังนี้ แท็บเล็ตมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ตอบสนองการเรียนรู้ของที่แตกต่าง และได้รับความพอใจจากครูและนักเรียนอย่างสูง และเห็นว่า ควรดำเนินโครงการแท็บเล็ตพีซีต่อเนื่อง

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการประเมินสภาพปัญหา การใช้งานแท็บเล็ตจนถึงปัจจุบัน พบว่า ยังมีจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาหลายส่วน ทั้งกรณีสเป็กที่ค่อนข้างต่ำ ทำงานช้าอายุการใช้งานสั้น ขณะที่ งานวิจัยของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ปี 2555 พบว่าแท็บเล็ต เหมาะสมสำหรับนักเรียนระดับชั้น ป.4 ขึ้นไป กรณีจะจัดหาแท็บเล็ต ให้กับนักเรียนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 เห็นควรจัดหาให้ระดับมัธยมศึกษาที่ด้อยโอกาสขาดแคลนอุปกรณ์ในการ เป็นอันดับแรก และควรเป็นการจัดหาโดยการเช่า เพราะสามารถบริหารจัดการงบได้ง่าย

“ข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ศธ.พบว่ามีโรงเรียนที่จัดการเรียนแบบออนไลน์ 7,889 แห่ง มีข้อจำกัดจากการใช้แท็บเล็ตหลายมิติ เช่น ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านนักเรียนต้องอยู่กับ แท็บเล็ตโดยไม่มีผู้ดูแล ศธ.และสถานศึกษา ได้คำนึงถึงการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบที่ใช้ครอบครัวและผู้เรียนเป็นฐาน รูปแบบการจัดการศึกษาการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีความหลากหลายตามความต้องการจำเป็น และเหมาะสมกับบริบทของครอบครัวสภาพพื้นที่สภาพเศรษฐกิจ

การจัดหาแท็บเล็ต จึงจำเป็นกับนักเรียนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งนี้การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัว โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษาจำเป็นต้องใช้การเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้ต่อเนื่อง กลายเป็นเรื่องหนักของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก ที่เกิดความเครียด และพบว่าจำนวนมากถอดใจออกจากโรงเรียนกลางคัน ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยหลายรายขอดร็อปเอาท์” ปลัด ศธ.กล่าว

ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาในการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ซึ่งเป็นภาระกับผู้ปกครอง และเท่าที่ดู หลายรายอยากกลับไปเรียนในโรงเรียนั้น จากงานวิจัยผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ครอบครัวในประเทศเอเชียและยุโรป ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า 40 % ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ 25 % ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์หรือสภาพไม่พร้อม ขณะที่ผลสำรวจของ Washington Post พบว่าเด็กเครียด ก้าวร้าว เบื่ออาหาร ปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า ขณะที่งานวิจัยของจีน

สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ยที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2 ถึง 6 (ป.2-ป.6) จำนวน 2,330 คน ระหว่าง 28 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม2563 พบว่านักเรียน 40% เครียดและวิตกกังวล สอดคล้องกับไทยที่ล่าสุด พบข้อมูลนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความทุกข์ และสุดท้ายก็นำไปสู่โศกนาฏกรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน