ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต ผอ.กอล์ฟ ฆ่าชิงทอง 3 ศพที่ลพบุรี เเต่เเก้ดอกเบี้ยค่าเสียหายให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ นับจากวันเริ่มใช้ ชี้พฤติการณ์โหดเหี้ยมไร้มนุษย์ธรรม

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.300/2564 ในส่วนคดีอาญาเเละคดีเเพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ที่พนักงานอัยการคดีอาญา เเละบริษัทออโรร่า ดีไซน์ พร้อมด้วยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายอีก 10 ราย

เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือผอ.กอล์ฟ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในจ.สิงห์บุรี เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ, พยายามฆ่าผู้อื่นฯ, ชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนฯ และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน กรณีก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ร้านทองออโรร่า ในห้างสรรพสินค้าที่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 ว่าจำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ประกอบมาตรา 60, 289 (6) ประกอบมาตรา 80, 289 (7),339 วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้ายประกอบ มาตรา 340 ตรี,371,376 ,พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน , ฐานมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน

ฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 3 ปี ,ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการหรือเพิ่มความสะดวกในการจะกระทำผิดให้ประหารชีวิต,ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต,ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยมีและใช้อาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะ ให้ประหารชีวิต และปรับ 1,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง อาวุธปืนและเครื่องกระสุน หมวกโม่งคลุมศีรษะสีดำ รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า เสื้อยืด โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ใช้กระทำผิด

อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ร้องที่1 จำนวน 1.8 แสนบาท ,ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 9.9 หมื่นบาท , ผู้ร้องที่ 3 จำนวน 1.3 แสนบาท, ผู้ร้องที่ 4 จำนวน 2.2 ล้านบาท, ผู้ร้องที่ 5 จำนวน 7.5 แสนบาท ผู้ร้องที่ 6,7 และ8 จำนวน 2.25 ล้านบาท,ผู้ร้องที่ 9 และ 10 จำนวน 7.5 แสนบาท

ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษ โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่ามีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หรือไม่

เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานแวดล้อมกรณีมาสืบให้รับฟังได้อย่างมั่นคงว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายที่ 1-3และที่ 5 และชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมแล้วหลบหนีไป ดังที่วินิจฉัยมาแล้วทั้งจำเลยมิได้ลุแก่โทษเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานเเละสารภาพความผิด แต่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง เพื่อขอออกหมายจับจำเลย จนกระทั่งจับจำเลยได้ซึ่งลำพัง

แต่พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยรับสารภาพเป็นเพราะเกิดจากจำนนต่อหลักฐานและตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ที่บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่การที่จำเลยชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัสฆ่าผู้อื่น เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นฆ่าผู้อื่น เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิด

แต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่นและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ลักษณะของการกระทำความผิด จึงเป็นไปโดยอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยชดใช้ความเสียหาย เพื่อบรรเทาผลร้ายสำนึกผิดหรือมีคุณความดีดังที่อุทธรณ์ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะสมควรใช้ดุลพินิจลดโทษให้แก่จำเลยได้

ที่ศาลชั้นต้นให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยโดยไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่งระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.แพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งป.แพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน ดังนั้นในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับคือวันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปนั้น จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดแก่ (ผู้ร้องทั้งสิบ ในอัตราตามป.แพ่งและพาณิชย์ม. 224 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ตามพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.แพ่งและพาณิชย์ 2564 มาตรา 7 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับ แต่วันที่11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระค่าสินไหมทดแทนเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสิบ นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน