ภาคีเซฟบางกลอย ออกแถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอยเรื่อง มรดกโลก จี้รัฐบาลแก้ปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ก่อนกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรานงานว่า ภาคีเซฟบางกลอย ออกแถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอยเรื่อง มรดกโลก (ต้อง) ไม่ใช่มรดกเลือด รัฐไทยต้องแก้ปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

​ สืบเนื่องจากรัฐบาลไทย นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.64 ที่ประเทศจีน และจะพิจารณาเกิดขึ้นในวันที่ 26 ก.ค.นั้น



ก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยพยายามนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสาร ย้ำว่าได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อย่างดีแล้ว จนชาวบ้านสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ รวมถึงมีท่าทีจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ที่ย้ำว่าการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ที่ชาวบ้าและภาคประชาชนกำลังเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา

​ ภาคี #SAVEบางกลอย ในฐานะภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในฐานะที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านบางกลอยบนเส้นทางการต่อสู้สู่การกลับถิ่นฐานบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น ติดตามความคืบหน้าในกรณีการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรายงานสถานการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวบางกลอยอย่างสม่ำเสมอ

เรายืนยันว่า ข้อมูลที่รัฐบาลไทยนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเราได้รับรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านประสบปัญหาด้านสุขภาวะและปัญหาปากท้องอย่างหนัก ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย และการประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม เจ้าหน้าที่รัฐอาศัยการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 อย่างเข้มข้น เพื่อกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดั้งเดิมของ บรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้าน 34 คน มีอาการป่วยหนัก ตั้งแต่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ความดัน จนถึงไมเกรน กระทบต่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ

ซึ่งผลกระทบจากการกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรของบรรพบุรุษนี้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านจนปรากฏเป็นรูปธรรม จากการสำรวจพบว่า มีมารดาไม่สามารถให้นมบุตรหลังคลอดถึง 11 คน มีเด็กพิการแรกเกิดที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คน เราสามารถอนุมานได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ ในชุมชนอย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กลับไม่สามารถเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารได้ และจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่าหากสิ่งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางกระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

จนถึงขณะนี้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทุเลาลง มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้นอีกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอยนั้นถูกทางการไทยทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ

​ปัญหาเหล่านี้คือภาพสะท้อนว่ารัฐมีพัฒนาการในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวบางกลอยที่ต่ำมาก การพัฒนาพื้นที่กว่า 25 ปี หลังจากการอพยพชาวบ้านลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2539 เป็นความล้มเหลว รวมทั้งได้สั่งสมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องที่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เลื่อนเวลาการพิจารณารายการมรดกโลกแก่งกระจาน

โดยกล่าวว่า “ชาวกะเหรี่ยงพื้นเมืองในอุทยานแห่งชาติยังคงถูกบังคับขับไล่และบ้านเรือนของพวกเขาถูกเผาไหม้ ผู้นำคนสำคัญเสียชีวิตหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวไว้ ในปี พ.ศ. 2564 การล่วงละเมิดของชาวกะเหรี่ยงทวีความรุนแรงขึ้น และสมาชิกในชุมชนกว่า 80 คนถูกจับกุม 28 คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้หญิง 7 คน และเด็กอีก 1 คน ถูกตั้งข้อหา ‘บุกรุก’ ในที่ดินดั้งเดิมของพวกเขาในอุทยานแห่งชาติ”

​นอกจากนั้นในช่วงเวลากว่า 10 ปีแห่งความพยายามในการผลักดันผืนป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก ยังปรากฏภาพความรุนแรงและการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อชาวปกาเกอะญอในกลุ่มป่าแก่งกระจานเสมอมา เป็นต้นว่า ชุมชนชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านห้วยกระซู่ บ้านห้วยสาลิกา บ้านท่าเสลา บ้านห้วยแห้ง บ้านลิ้นช้าง บ้านห้วยหินเพิง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ชุมชนบ้านป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

รวมถึงบ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ บ้านแพกตะค้อและบ้านแพกตะลุ้ย อ.ปาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีอย่างน้อย 40 ชุมชน ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนโดยปราศจากการมีส่วนร่วม การตกหล่นจากกระบวนการสำรวจตามมาตรา 64 และ 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การยึดพื้นที่ทำกิน และการจับกุมดำเนินคดี

​ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สำหรับในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอยนั้น ตลอดระยะเวลา 25 ปีหลังการอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน ชาวบ้านได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด แต่เมื่อมีการออกมาเรียกร้องเพื่อยืนยันในสิทธิมนุษยชนของชุมชนชาติพันธุ์ พวกเขาในฐานะมนุษย์เช่นกันกลับต้องสูญเสีย 2 ชีวิตที่เป็นดั่งครอบครัว คือ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ถูกบังคับสูญหาย และทนายป๊อด-ทัศน์กมล โฮบอ้อม ถูกลอบสังหาร

เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า การต่อสู้นี้คือการแลกด้วยชีวิต เพราะการแลกคือชาวบ้านต้องได้รับสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา แต่ตลอดมา รัฐไทยไม่เคยมอบสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขาเลย สิ่งที่ได้รับกลับมากลับเป็นความสูญเสียในมิติอื่น ๆ อาทิ บ้านเรือนและยุ้งข้าวร่วม 100 หลังถูกเผาทำลายแหลกลาญอย่างไร้เมตตาปราณี และชีวิตลูกหลานในเงื้อมมือกรมอุทยานฯ ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น ทั้งร่างกาย (สุขภาวะ) และจิตใจ (การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์)

​ภาคี #SAVEบางกลอย ไม่ได้มีเจตนาที่จะคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพียงแต่เรามีความกังวลว่า การพิจารณามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานในครั้งนี้จะเป็นการปฏิเสธสิทธิการอยู่อาศัยบนผืนดินบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชุมชนอื่นๆ เราต้องการมรดกโลกที่มีแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ควบคู่ไปกับการดำรงไว้ ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เราต้องการให้ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอันเป็นมรดก และรากเหง้าที่ส่งต่อมาแต่บรรพบุรุษได้รับการยอมรับและคุ้มครอง ให้การเป็นมรดกโลกนั้นควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

รวมถึงต้องการความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานตามหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้ ถูกบันทึกและถูกจดจำต่อสายตานานาอารยประเทศอย่างสง่างาม ชอบธรรม และสมศักดิ์ศรี

​เมื่อถึงวันนี้รัฐไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชุมชนได้ และสถานการณ์กลับยังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาไม่มี ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและมองข้ามความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ UNESCO ยึดถือ ชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอยถูกละเลยจากรัฐไทยมายาวนาน ในวันนี้พวกเราปรารถนาการจะถูกมองเห็นจากคณะกรรมการมรดกโลก และเพื่อนมนุษย์นานาประเทศใน UNESCO

เราจึงขอส่งเสียงไปยังคณะกรรมการมรดกโลก และ UNESCO ว่า ต้องเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานไป รัฐไทยและคณะกรรมการมรดกโลกโดย UNESCO ต้องหยุดมรดกโลกที่ได้มาด้วยเลือด และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ นี่คือถ้อยแถลงจากชาวบ้าน และจากพวกเราในนามประชาชนคนไทยผู้รักความเป็นธรรมและเพื่อนร่วมโลก คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน ​

ในโอกาสนี้เราขอเชิญชวนบุคคล หน่วยงาน และองค์กร ร่วมแสดงพลังโดยการลงชื่อร่วมกับเราในแถลงการณ์ฉบับนี้ในช่องแสดงความคิดเห็น #saveบางกลอย #ชาติพันธุ์ก็คือคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน