กลุ่มร้านนวด-สปา รวมตัวยื่นฟ้องรัฐบาล ปมสั่งปิด-ไร้เยียวยา เรียกค่าเสียหาย 200 ล้าน คิวต่อไปผับบาร์-ร้านอาหารเอาด้วย ศาลรับคำร้อง-นัดไต่สวน 19 ต.ค.

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสุเทพ อู่อ้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และทีมทนาย ร่วมเป็นตัวกลางนำนายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และน.ส.อักษิกา จันทรวินิจ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจร้านนวด-สปา

เดินทางเข้ายื่นฟ้องรัฐบาล ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวด และสปาในกรุงเทพฯ และจังหวัดในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน จากการถูกสั่งปิดสถานประกอบการร้านนวดตามคำสั่งของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการโควิด ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยไปเรียกร้องมาหลายหน่วยงานแล้ว

นายพิทักษ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดได้รับผลกระทบจากนโยบายสั่งปิดกิจการร้านนวดตั้งแต่ปี 2563 และถูกสั่งปิดต่อเนื่องทุกครั้งของการล็อกดาวน์ ซึ่งร้านนวดไม่เคยเป็นสถานที่เสี่ยง และไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่รัฐก็ยังสั่งปิดร้านนวดทุกครั้ง จนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ จนถึงขณะนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยสักครั้ง และในวันนี้กลุ่มผู้ประกอบการได้เรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐเป็นเงิน 200 ล้านบาท

ด้านน.ส.ศิริกัญญา ในฐานะเป็นตัวกลาง ยื่นฟ้องให้กลุ่มผู้ประกอบการ กล่าวว่า การฟ้องในครั้งนี้เป็นการฟ้องแพ่งแบบรวมกลุ่มหรือ Class Action ครั้งแรก อยากให้คดีนี้เป็นคดีแรก และเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลจะตัองรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน และความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นมาตรการที่รัฐบาลสั่ง แต่ไม่มีมาตรการที่จะมารองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะนี้ผ่านมากว่า 1 ปีแล้วที่ผู้ประกอบการร้านนวดยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ถ้าจะมาเยียวยาตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว เพราะไม่ได้สัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น เราคิดว่ามันสายเกินไปแล้ว ต้องมาพึ่งศาลว่าได้กระทำการละเมิดกับประชาชนในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่ผิดพลาดขนาดนี้ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน ซึ่งการฟ้องร้องในวันนี้เป็นคดีแรกของการฟ้องรวมกลุ่มของกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวด และจะขยายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอื่น ๆ อีก เช่น ร้านอาหาร และผับ บาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำฟ้อง ระบุว่านางอักษิกา จันทรวินิจ ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพและสปาขนาดกลางและขนาดเล็ก เเละ น.ส.จารวี ติสันโต เจ้าของร้านจารวี นวดแผนไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง , กระทรวงสาธารณสุข,กระทรวงมหาดไทย,กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย 10,796,928 บาท

โดยจำเลยที่ 1-4 เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงานและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจหน้าที่ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินใหม่ทดแทน ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 วรรค 5

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศบค. และประธานกรรมการวัคซีน มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และได้ประกาศกฎหมายหลายฉบับ เเต่พล.อ.ประยุทธ์ เเละนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก เกิดจากการบริหารจัดการการแพทยระบาดไวรัสโควิดยังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และนายกรัฐมนตรียังได้สั่งปิดสถานที่ ซึ่งรวมถึงสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ

การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ นายอนุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และผู้ว่ากทม. ที่ประกาศปิดสถานที่ดังกล่าว ซึ่งมีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อ ดำเนินนโยบายผิดพลาดล้มเหลว จึงต้องรับผิดชอบความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 7,199,262 บาท ชดใช้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,597,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5

โดยโจทก์ทั้งสองยังยื่นคำร้องขอฟ้องคดีเเบบกลุ่ม ได้บรรยายฟ้องโดยแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันกับลักษณะของสมาชิกกลุ่มที่ชัดเจน เพียงพอเพื่อให้รู้ได้ว่าโจทก์ทั้งสองและสมาชิกกลุ่มเป็นกลุ่มบุคคลที่ประกอบกิจการร้านนวดเพื่อสุขภาพที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี นายอนุทิน , ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ และผู้ว่ากทม.นั้น มีสมาชิกกลุ่มมากกว่า 150 คนซึ่งถือว่าการฟ้องคดีนี้ มีผู้เสียหายเข้ามาเป็นจำนวนมาก หากดำเนินคดีอย่างคดีสามัญแล้ว จะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก เพราะจะต้องสืบพยานบุคคลเป็นจำนวนมาก หรืออาจต้องแยกฟ้องเป็นคดีใหม่อีกจำนวนหลายคดี

การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญเนื่องจากคดีนี้เป็นการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอาจต้องออกคำสั่งเรียกพยานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหรือต้องออกหมายเรียกพยานบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนักวิชาการมาเป็นพยานในคดีซึ่งหากให้ประชาชนแต่ละบุคคลแยกกันไปฟ้องร้องอาจไม่สามารถต่อสู้คดีกับหน่วยงานของรัฐได้ดีเท่ากับการรวมกลุ่มกัน

โจทก์ทั้งสองยังยื่นคำร้องว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์การระบาดรุนแรงของโรคโควิด 19 การเดินทางมาดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ศาลอาจเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อของคู่ความและบุคลากรของศาลได้ด้วย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้โดยไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มและนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ Google Meet เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ของคู่ความและบุคลากรของศาลขอศาลได้โปรดอนุญาต

โดยศาลรับคำร้องขอดำเนินคดีเเบบกลุ่มเเละให้นัดไต่สวนวันที่ 19 ต.ค.เวลา 09.00 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน