กรมควบคุมโรคเผยแอสตร้าฯ พร้อมส่งวัคซีนเดือน ก.ย.มากขึ้นเป็น 7.2 ล้านโดส เผยคนฉีดซิโนแวค 2 เข็มมี 3-4 ล้านคน คาดได้บูสเตอร์ปลายปีนี้ หลังมีวัคซีนมากขึ้น ส่วนปีหน้าจัดหาเพิ่ม 120 ล้านโดส รองรับฉีดกระตุ้นและฉีดในเด็ก ขอรับเป็นวัคซีนรุ่นสองหากบริษัทวิจัยเสร็จ ย้ำแผนจัดหาปี 64 และ 65 ไม่เกี่ยวข้องกัน เพระาเป็นคนละสัญญา

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จำนวนวัคซีนที่เข้ามาในไทย จนถึงวันที่ 20 ส.ค. รับวัคซีนเข้ามาแล้ว 30 กว่าล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย. – ส.ค. จำนวนวัคซีนที่เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับยอดการฉีดและความต้องการฉีด อย่างแอสตร้าเซนเนก้าในสัญญาที่ลงนามตั้งแต่ พ.ย. เป็นช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตสำเร็จแม้แต่ขวดเดียว ในเงื่อนไขสัญญาจึงระบุว่า การส่งมอบจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือนตามที่เราต้องการ และขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่แอสตร้าฯ จะมีให้ได้ด้วย เริ่มส่งตั้งแต่ มิ.ย.มีเข้ามา 5 ล้านโดส ก.ค. 5 ล้านโดส ส.ค. 5 ล้านโดส เฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน และ ก.ย.เป็นต้นไป

สธ.จะเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทยเป็นระยะ เราแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า อยากได้วัคซีนฉีดเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการฉีดวัคซีนของคนไทยมีมาก บริษัทจึงตอบสนอง เช่น ก.ย.มีการส่งสัญญาณว่าจะส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 7.2 ล้านโดส เชื่อว่าการเจรจาเราจะมีวัคซีนเข้ามาเรื่อยๆ ตามต้องการมากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการฉีด

“อีกไม่กี่เดือนจะถึงปี 2565 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีนพบว่า อาจจะต้องจำเป็นใช้เข็มที่ 3 และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น กลุ่มเด็ก ที่มีการวิจัยในหลายบริษัท หลายประเทศ เพราะพบว่า หลังจากฉีด 2 เข็มไม่ว่ายี่ห้ออะไร ภูมิคุ้มกันจะตกลง การฉีดเข็มสามจะเป็นการกระตุ้นให้ภูมิสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ปี 2565 จะต้องหาวัคซีนมาเพิ่มเติมเพื่อฉีดใน 2 กลุ่มนี้ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงเสนอความเห็น และผ่านความเห็นชอบของ ศบค.ว่าปี 2565 จะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างน้อย 120 ล้านโดส และวัคซีนมีความหลากหลาย เช่น mRNA ไวรัลเวคเตอร์ เชื้อตาย ฯลฯ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติหารือผู้ผลิตวัคซีนหลายบริษัทหลายรูปแบบ ว่าจะนำเข้าวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ อย่างน้อย 50 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 50 ล้านโดส ส่วนรายละเอียดจะเป็นวัคซีนแบบไหน ซึ่งมีข้อมูลว่าหลายบริษัทเริ่มมีการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์มากขึ้น หรือวัคซีนรุ่นที่ 2 ถ้าบริษัทมีผลวิจัยยืนยันว่า มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยก็จะขอให้บริษัทส่งมอบวัคซีนรุ่นที่ 2 ให้แก่ประเทศไทย ส่วนปริมาณที่แน่นอน กำหนดการส่ง และราคา อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ที่ผ่านมาการเจรจามีความก้าวหน้าด้วยดี หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาแจ้งเป็นระยะ

“ปี 2564 เรามีแผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ตอนนี้มีการสั่งจองแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส ลงนามสัญญากับไฟเซอร์นำเข้ามา 30 ล้านโดส ซื้อซิโนแวคมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและเพื่อฉีดสูตรไขว้ 30 ล้านโดส ภาพรวมตัวเลขการจองวัคซีนและนำเข้าเกิน 100 ล้านโดสไปแล้ว แต่ความต้องการฉีดมีมาก การมีวัคซีนมากก็ฉีดได้มากและเร็วขึ้น เกิดภูมิคุ้มกันป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการต่อไป

ส่วนปี 2565 เราเห็นความต้องการฉีดและฉีดบูสเตอร์โดสมีความจำเป็น จึงวางแผนนำเข้า 120 ล้านโดส แผน 2 ปีนี้ไม่เกี่ยวกัน ของปี 64 ก็ต้องบริหารตามสัญญาที่ลงนามไว้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังเป็นไปตามสัญญา ส่วนปี 65 ที่จะเจรจาจะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะเป็นคนละสัญญาคนละกรณี จะพยายามเจรจาให้ได้วัคซีนจำนวนมากมีความเหมาะสมใช้ในประเทศไทย” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนเข็มสามในประชาชนทั่วไป นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในประเทศไทยส่วนใหญ่ฉีดเมื่อ มี.ค. – เม.ย. ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ตอนนี้ฉีดกระตุ้นแล้วมากกว่า 5 แสนราย ส่วนใหญ่รับไฟเซอร์ รองลงมาเป็นแอสตร้าฯ อีกกลุ่มที่รับในช่วงนั้น คือ ประชาชนทั่วไปหรือคนมีความเสี่ยงแต่อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง เพราะในช่วง มี.ค. – เม.ย. เราฉีดแอสตร้าฯ คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก เนื่องจากวัคซีนมีน้อย แต่ทุกวัคซีนฉีดระยะหนึ่งภูมิคุ้มกันลดลง กลุ่มนี้ฉีดแล้ว 5 เดือน มีคนฉีดสูตรนี้ 3-4 ล้านคนที่เป็นซิโนแวค 2 เข็ม

“สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีน จะมีการหารือประเด็นนี้ด้วย คาดว่าคนที่รับซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม มีโอกาสได้รับเข็มกระตุ้นน่าจะไม่เกินปลายปีนี้ เพราะเราจะมีวัคซีนมากขึ้น ทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ แต่ไปตามลำดับ ใครที่เสี่ยงสูง ภูมิคุ้มกันลดลงก็อยากให้ฉีดเพิ่มขึ้น เช่น มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือจากภาระหน้าที่ของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่สุดท้ายคนที่รับ 2 เข็ม ปีต่อไปจะรับเข็มกระตุ้นแน่นอน เพราะประเทศไทยเตรียมไว้อย่างเพียงพอสำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดและคนจะฉีดเข็มสาม” นพ.โสภณกล่าว

ถามถึงกรณีคนแจ้งข้อมูลต้องฉีดสูตรไขว้ แต่กลับได้รับเข็มแรกเป็นแอสตร้าฯ และเข็มสองเป็นแอสตร้าฯ ห่างกัน 20 วัน นพ.โอภาสกล่าวว่า เรามีวัคซีนหลายชนิด ผู้ปฏิบัติงานอาจเกิดความสับสน หรือที่มีข่าวฉีด 2 เข็มในวันเดียวกัน เป็นความบกพร่องส่วนบุคคล แต่วัคซีนที่ฉีดค่อนข้างปลอดภัย คนที่ฉีดเข้าไปเกิน ติดตามก็ยังไม่พบอันตรายใดๆ ส่วนกรณีนี้ รพ.สมุทรปราการ คงต้องไปตรวจสอบติดตามดูอย่างใกล้ชิด โดยแอสตร้าฯ เราฉีดห่างตั้งแต่ 8-16 สัปดาห์ เพราะจะกระตุ้นภูมิสูง แต่ฉีดใกล้กันอาจขึ้นได้ไม่ดี เน้นย้ำผู้ดูแลติดตามกำกับการฉีดให้ครบถ้วนตามที่กำหนด และดูแลรายบุคคลอย่างเข้มงวด ติดตามอาการให้คำแนะนำต่อไป เป็นประสบการณ์ในการเอาไปปรับแก้ไขระบบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน