กรมควบคุมโรคลงนามร่วมแอสตร้าฯ จัดซื้อวัคซีนสำหรับปี 65 อีก 60 ล้านโดส รวม 1.8 หมื่นล้านบาท ตามมติ ครม. ทยอยจัดส่ง 3 ไตรมาส หากผลิตรุ่น 2 ได้ สามารถซื้อได้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เผยสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตได้มากขึ้นจาก 15 ล้านโดสเป็น 20 ล้านโดส ส่วนจะบูสต์อย่างไรต้องศึกษาข้อมูลงานวิจัยก่อน

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 60 ล้านโดสสำหรับปี 2565

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ลงนามสัญญาจัดซื้องวัคซีนแอสตร้าฯ ปี 2565 จำนวน 60 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นวัคซีนบูสเตอร์ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนในปี 2564 ทั้งการฉีดครบ 2 เข็มหรือการฉีดเข็ม 3 แล้วก็ตาม เป็นการฉีดโดสเดียว จึงมั่นใจได้ว่า 60 ล้านโดสสำหรับประชากรไทย 60 ล้านคน จึงมีความเพียงพอ และใช้การผลิตของโรงงานในไทย ทำให้ไม่ขาดแคลนวัคซีน โดยจะมีวัคซีนแอสตร้าฯ เข้ามาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด 19 ให้ทุกคนตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป โดยแบ่งการส่งมอบ 3 ไตรมาส คือ ไตรมาสที่ 1 จำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาส 2 จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาส 3 อีก 15 ล้านโดส

“เรากับแอสตร้าฯ มีความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้ผลิตก็ทราบถึงความต้องการวัคซีนของเรา เขาจึงให้คำยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยเป็นอันดับแรก” นายอนุทิน กล่าวและว่า สัญญาในรอบนี้ กรมควบคุมโรคเจรจาได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ราคาดีขึ้น ไม่ต้องมัดจำเงินจองวัคซีน จะจ่ายเมื่อส่งวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ หากผู้ผลิตพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 ที่ครบวงจรมากขึ้น ครอบคลุมสายพันธุ์เดลตาและอื่นๆ ได้สำเร็จ ก็สามารถสวิตช์คำสั่งซื้อได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนปีหน้าวัคซีนแอสตร้าฯ อาจจะพัฒนารองรับการฉีดตั้งแต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็อาจจะใช้ในส่วนนี้ด้วย ไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่มเติม แต่เราก็มีการเจรจาจัดหาวัคซีนโควิด 19 ในปีหน้ากับหลายผู้ผลิต ไม่เคยปิดกั้นรายอื่น

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงแรกสยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตได้เดือนละ 15 ล้านโดส แต่เมื่อมีความชำนาญมากขึ้นก็ผลิตได้เพิ่มเป็น 20 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้น การส่งมอบต่อเดือนก็มากขึ้น จะเห็นว่า ก.ย. ส่งมอบ 8 ล้านโดส ต.ค. คาดว่า 10 ล้านโดส และ พ.ย. ธ.ค. ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ทั้งหมดเป็นความพยายามระหว่างแอสตร้าฯ และสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งส่วนหนึ่งแอสตร้าฯ ก็พยายามหาซัพพลายจากต่างประเทศมาช่วยในการส่งมอบให้แก่ประเทศอื่นๆ ตามสัญญาทำให้มีวัคซีนในไทยมากขึ้น ในสัญญาจึงเป็นวัคซีนที่ใช้ฐานผลิตในไทย มีความชัดเจนมากกว่า เพราะพ้นระยะของการวิจัยพัฒนา การส่งมอบจึงชัดเจนมากขึ้น แต่หากการผลิตในไทยติดขัดก็จะจัดหาจากที่อื่นมาให้ เป็นข้อตกลงร่วมกัน

เมื่อถามว่าวัคซีนแอสตร้าฯ ใช้เป็นบูสเตอร์กับการฉีดวัคซีนอื่นๆ หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ต้องใช้ข้อมูลงานวิจัยมาเสริม แต่เบื้องต้นแอสตร้าฯ ใช้บูสต์ตัวเองได้ มีการศึกษาเข็ม 3 แอสตร้าฯ ในผู้ที่รับแอสตร้าฯ ครบ 2เข็ม พบว่าได้ผลดี ข้อมูลจะทยอยออกมา รวมถึงสูตรไขว้ด้วย ส่วนการบูสต์แอสตร้าฯ หลังจากรับ mRNA ก็ต้องดูข้อมูลเช่นกัน แต่แอสตร้าฯ มีข้อดีกระตุ้นภูมิระดับเซลล์ ส่วน mRNA กระตุ้นภูมิระดับแอนติบอดีสูง 2 ชนิดอาจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ต้องติดตามงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ที่เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ ศึกษาบูสเตอร์วัคซีนต่างชนิดกัน

ส่วนปีหน้าเราก็กำลังเจรจาจัดหาวัคซีน mRNA อยู่เช่นกัน ซึ่งเราพยายามจัดหาวัคซีนชนิดอื่นด้วย จะไม่เอามาเยอะเกินไป แต่ไม่น้อยเกินไป ต้องเผื่อ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีผล มีงานวิจัยมากขึ้น ทำให้การจองวัคซีนไม่ได้อยู่บนความเสี่ยงมากเหมือนปีที่แล้ว การซื้อวัคซีนจะเห็นผลของมันชัดเจน เราจะพิจารณาได้เป็นตัวๆ ปีหน้าก็น่าจะมีวัคซีนที่เพียงพอ จำนวนมากพอสมควร และความต้องการใช้ไม่เยอะเหมือนปีนี้ เพราะจนถึงสิ้นปี 2564 จะมีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีวัคซีนที่เหลื่อมถึงปีหน้า ใช้ระหว่างรอยต่อการจัดหาของปีหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน