กรมวิทย์ เผยผู้เข้าประเทศระบบ Test&Go 45 ตัวอย่าง ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน ยันใช้ RT-PCR ตรวจหาเชื้อได้ เร่งพัฒนาน้ำยาตรวจเฉพาะ ATK ตรวจหาเชื้อได้

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงกรณีโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า สายพันธุ์น่าห่วงกังวลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดไว้มี 4 ตัว คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ทั่วโลกการระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา สายพันธุ์ที่น่าสนใจ แลมบ์ดา มิว ลดความสำคัญลงไปมาก มีตัวที่จับตาดูอีก 4-5 ตัว และตัวใหม่ที่โผล่มา 1 ในนั้นคือ โอไมครอนและถูกจัดชั้นน่าห่วงกังวลอย่างรวดเร็วเป็นตัวที่ 5

ทั้งนี้ ระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่าย ตรวจรหัสพันธุกรรม ทั้งตรวจเบื้องต้น ตรวจเป็นส่วน และตรวจทั้งตัวมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ข้อมูลมารายงานประเทศไทยเรามีสายพันธุ์อะไรบ้าง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นมา ได้ตัวอย่างเชื้อมา 75 ตัวอย่าง ตรวจเสร็จแล้ว 45 ตัวอย่าง กำลังตรวจ 30 ตัวอย่าง ผลอาจออกวันนี้หรือพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นผู้เดินทางจากสหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย กาตาร์ อังกฤษ เกาะมอริเชียส ในแอฟริกาตะวันออก พบว่าผลตรวจเบื้องต้น 22 ตัวอย่างเป็นเดลตาหรือสายพันธุ์ย่อยเดลตา และตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 23 ตัวอย่างเป็นเดลตากับสายพันธุ์ย่อยเดลตาทั้งสิ้น ไม่มีอัลฟาและเบตาเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการยกระดับสายพันธุ์โอไมครอน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. จึงนำตัวอย่างเชื้อผู้เข้ามาในระบบ Test&Go ในช่วงเวลาใกล้เคียงจากประเทศต่างๆ คือ โปแลนด์ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม มองโลเลีย ไอร์แลนด์ และลาว จาก รพ.คู่สัญญาที่ตรวจให้ 4 รพ. จำนวน 8 ตัวอย่าง ยังไม่มีสายพันธุ์โอไมครอน ยังเป็นเดลตาและสายพันธุ์ย่อยเดลตา

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีวัน 2 วันนี้หลายคนตกใจว่า การตรวจด้วย RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานวินิจฉัยโรคของประเทศเราและทั่วโลก ตรวจสายพันธุ์โอไมครอนไม่เจอจริงหรือไม่ เนื่องจากสถาบันแห่งหนึ่งมีรายงานเรื่องนี้

แต่หากอ่านรายละเอียดเขาไม่ได้บอกเช่นนั้น ขอเรียนว่าข้อกำหนดของกรมวิทย์ ห้องแล็บที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทย์ในการตรวจหาเชื้อแล้วจะบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น หรือบอกว่าบวกหรือลบนั้น แล็บต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน หรือตรวจยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง หากเป็นลบต้องเป็นลบทุกยีนที่ตรวจ หรือทุกตำแหน่งที่ตรวจ หากบวกก็ต้องบวกทั้งหมด ส่วนกรณียีนหนึ่งบวกยีนหนึ่งลบ หรือตำแหน่งหนึ่งบวก ตำแหน่งหนึ่งลบ จะเป็นการสรุปไม่ได้

“การกำหนดไว้อย่างนี้จึงมีอานิสงส์ว่า เวลาเกิดการกลายพันธุ์ เช่น โอไมครอน อาจทำให้ตรวจบางยีนไม่พบ บางยีนโผล่ขึ้นมา การตรวจมากกว่า 1 ยีนโอกาสหลุดรอดไปก็ต่ำมากแทบไม่มี ซึ่งจะเกิดลักษณะของยีนหนึ่งบวก ยีนหนึ่งลบ ตำแหน่งหนึ่งบวก ตำแหน่งหนึ่งลบ ถ้าแล็บไหนยังสรุปไม่ได้ ต้องไม่สรุปใช่หรือไม่ ต้องตรวจเพิ่มเติม ถ้าโอไมครอนมาก็จะเข้าลักษณะแบบนี้ ก็ต้องส่งสิ่งส่งตรวจมาส่งสถาบันอื่นต่อไป ขอยืนยันว่าอย่าตกใจ การตรวจ RT-PCR ยังวินิจฉัยโอไมครอนได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำยาตรวจผ่าน อย. มี 104 ยี่ห้อ โดย 2 ยี่ห้อตรวจเฉพาะ N กับ S ถ้ามีการกลายพันธุ์แล้วมีพันธุกรรมบางตำแหน่งบน N และ S หายไป 2 ยี่ห้อนี้อาจตรวจไม่พบ แต่ 15 ยี่ห้อใช้ยีนตำแหน่งสไปก์โปรตีน คือ S ร่วมกับยีนอื่นที่ไม่มีผลจากการกลายพันธุ์ และมี 87 ยี่ห้อ ใช้ส่วนของ N และยีนอื่นๆ ประกอบ เพราะฉะนั้นโอกาสหลุดรอดไปแทบไม่มี มีเพียง 2 ใน 104 ที่อาจฟลุคแล้วตรวจไม่เจอ โดย 2 ยี่ห้อนี้จะประสานผู้ขายหรือนำเข้าไปดูรายละเอียดต่อไปว่ามีโอากสพลาดมากน้อยแค่ไหน

“สรุป RT-PCR ที่ใช้ตรวจทุกวันนี้ยังหาโอไมครอนเจอ นอกจากนี้ การตรวจ RT-PCR บอกไม่ได้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน แต่ระบบเฝ้าระวังของประเทศอยากรู้สายพันธุ์ไหนมี 3 ระดับ คือ 1.ตรวจ RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษของแต่ละสายพันธุ์โดยตรง เช่น น้ำยาเฉพาะของเดลตา หากเป็นบวกก็คือเดลตา ซึ่งทำได้เร็วทำได้เลย

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทำได้ เตรียมพร้อมให้ 2.ตรวจลึกตำแหน่งรหัสพันพันธุรรมว่าหน้าตาเหมือนชนิดไหน ใช้เวลา 3 วัน และ 3.การถอดรหัสทั้งตัว 5-7 วัน ซึ่งจะส่งข้อมูล GISAID เพื่อรวมข้อมูลประเทศอื่น เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ต่อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ถ้าเรารอการตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 7 วันถึงตอบได้ ซึ่งก็จะไม่ทัน ขณะที่การตรวจด้วยน้ำยาเฉพาะของสายพันธุ์โอไมครอนยังไม่มี กรมวิทย์กำลังพยายามพัฒนา คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์น่าจะได้ แต่ระหว่างนี้เพื่อการตรวจที่รวดเร็ว จากการวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราพบข้อเท็จจริงว่า โอไมครอนมีการกลายพันธุ์จนมีส่วนทั้งของอัลฟา ที่ตำแหน่ง HV69-70deletion และเบตา ตรงตำแหน่ง K417N

ฉะนั้น จึงเอาคุณสมบัตินี้มาใช้เป็นเทคนิคตรวจ โดย 1 ตัวอย่างจะตรวจโดยน้ำยาเฉพาะอัลฟาและเบตา หากพบทั้งคู่ คือ HV69-70deletion และ K417N หายไป บอกได้เลยว่า เกือบ 100% น่าจะเป็นโอไมครอน โดยไม่ต้องมาถอดทั้งตัว เนื่องจากถ้าตรวจเจอเฉพาะอัลฟา จะไม่เจอเบตา ตรวจเบตา จะไม่เจออัลฟา ถือเป็นเทคนิคหนึ่งที่กำลังประสานศูนย์วิทย์ทั่วประเทศใช้ในการตรวจจับ ซึ่งทุกศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถทำได้ เพื่อความรวดเร็ว โดยไม่รอตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

“ส่วนการตรวจด้วย ATK จะจับไม่ได้แล้วหรือไม่ เราเอางานวิจัยของคุณเหลียงในวารสารวิชาการเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทย์เอามาลองแมปปิ้งกับตัวรหัสพันธุกรรมโอไมครอน พบเบื้องต้นยังไม่มีผลอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะโปรตีนจนทำให้ ATK ตรวจไม่ได้

แต่เป็นผลเบื้องต้น ซึ่ง ATK แต่ละยี่ห้อที่ผ่านการประเมิน อย.เราไม่มีดูประเด็นนี้ในเชิงรายละเอียด อาจศึกษาเรื่องพวกนี้ต่อไปว่ามี ATK บางตัวหรือไม่ที่ทำให้ขีดความสามารถการตรวจจับลดลง แต่เบื้องต้นยังใช้ได้ กรมวิทย์จะร่วมกับ อย.ดำเนินการต่อ โดยเราจะคุย อย.ว่าขอข้อมูลจากบริษัทเพื่อพิสูจน์ว่า โปรตีนที่ใช้ตรวจไม่กระทบการกลายพันธุ์” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มาตรการที่จะสู้โอไมครอน 1.ยังต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากที่สุด มีภูมิดีกว่าไม่มีภูมิ

2.ข้อมูลต่างๆ ยังจำกัด ระดับร้อย เราสันนิษฐานจากตำแหน่ง ข้อมูลการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่อาจก่อปัญหา และมีคลัสเตอร์บางกลุ่มที่ตัวตำแหน่งยีนพอเกิดขึ้นแล้ว ทำให้อำนาจเกาะติดกับเซลล์สูงขึ้น อาจแพร่เชื้อเร็วขึ้น และการระบาดในแอฟริกาใต้ ช่วงเวลาสั้นๆ เบียดสายพันธุ์อื่นเร็ว ตรวจพบเชื้อเยอะในแต่ละคน นำมาซึ่งความห่วงกังวล แต่ตัวเลขที่ไม่มาก ยังตอบคำถามยาก การบอกว่ารุนแรงมากแค่ไหน หลบภูมิแค่ไหน แพร่เร็วขึ้นกี่เท่า ต้องรอข้อมูลก่อน

3.มาตรการสำคัญ คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ไม่อยู่รวมกันแออัด ลดกิจกรรมไม่จำเป็น สถานบริการใช้ COVID Free Setting ถ้าทำครบถ้วน โอไมครอนก็ไม่มีปัญหามากสำหรับประเทศเรา

“เรากำลังเปิดประเทศ ใครมา Test&Go เราให้ตรวจ RT-PCR รอผลถึงไปไหนมาไหนได้ เดิมจะขอหย่อนไม่ให้ตรวจ RT-PCR เพื่อความสะดวก โดยใช้ ATK อย่างเดียว เราก็กลับมาทบทวนว่า อาจปฏิบัติเหมือนเดิมไปก่อน ตรวจ RT-PCR ทุกราย ถ้าผลบวกไม่ว่าอยู่ในระบบไหน จะ Test&Go แซนด์บ็อกซ์ หรือกักตัว เราก็จะเอาเคสที่เป็นบวก เอามาส่งตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อบอกว่ามีโอไมครอนหลงเข้ามามากน้อยอย่างไร” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน