กรมอนามัยเผย 82% คนยังกังวลโควิดช่วงปีใหม่ จากการรวมกลุ่มสังสรรค์ หวั่นโอมิครอนระบาดในประเทศ เผย 5 กิจกรรม 5 สถานที่เสี่ยงระบาดช่วงปีใหม่

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวครอบครัวปลอดภัย ต้อนรับปีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19 ว่า อีก 10 กว่าวันจะถึงช่วง เฉลิมฉลองปีใหม่ 2565 ที่จะกลับภูมิลำเนาพบปะญาติพี่น้องเพื่อนฝูง หรือเดินทางท่องเที่ยว แม้ขณะนี้โรคโควิด 19 จะดีขึ้นต่อเนื่อง และรับวัคซีนถึง 100 ล้านโดสแล้วก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดต่อไป เพื่อให้ปีใหม่เริ่มได้อย่างปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจอนามัยโพล วันที่ 1-20 ธ.ค.64 เกี่ยวกับความกังวลต่อการระบาดของโควิดช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า 82% รู้สึกกังวลใจ สาเหตุมากกว่า 70% คิดว่าเทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่รวมกลุ่มทำกิจกรรม สังสรรค์ ท่องเที่ยว มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ และกลัวว่าจะระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ขึ้นภายในประเทศ ส่วนประชาชนที่ไม่รู้สึกกังวลให้เหตุผลว่า เพราะจะต้องอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ โดยใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนหนึ่งมั่นใจการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของสถานประกอบการต่างๆ

สำหรับกิจกรรมที่คิดว่าจะทำให้เกิดการระบาดโควิด 5 อันดับ คือ การรวมกลุ่มในสถานประกอบการต่างๆ 67%, การเดินทางกลับภูมิลำเนา/ไปเที่ยวด้วยรถส่วนตัว 67%, กลับภูมิลำเนา/ท่องเที่ยวด้วยขนส่งสาธารณะ 58%, การเดินทางจากต่างประเทศ 56% และการลักลอบเข้าประเทศ 51%

ส่วนสถานที่ที่ประชาชนคิดว่าจะทำให้เกิดการระบาด คือ สถานบันเทิงผับบาร์คาราโอเกะ 64% สถานที่ท่องเที่ยว 59% ตลาด 48% ห้างสรรพสินค้า 44% และขนส่งสาธารณะ 44% อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามพบว่าเกือบ 85% มีแผนฉลองปีใหม่ที่บ้าน ฉลองที่ร้านอาหาร 17% หรือร่วมอีเวนต์ต่างๆ 16%

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วน 3 มาตรการสำคัญที่ประชาชนเห็นว่าต้องปฏิบัติเพิ่ม สร้างความเชื่อมั่นช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่ คือ 1.การคุมเข้มและคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอนเข้าประเทศ 61% 2.เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสถานประกอบการ สถานที่จัดปีใหม่ จัดมาตรการป้องกันเคร่งครัด 60%

และ 3.คุมเข้มป้องกันลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายตามชายแดนเกือบ 58% สำหรับการปฏิบัติตนป้องกันโควิด 19 ที่ทำได้ดีมากและทำมากกว่า 90% คือสวมหน้ากากเมื่ออยู่ที่สาธาณะ 97% ล้างมือ 94% แต่พฤติกรรมที่ควรต้องปฏิบัติเพิ่ม คือ สวมหน้ากากเมื่ออยู่กับคนในบ้าน การเช็กอินผ่านไทยชนะ หมอชนะ ที่ปัจจุบันทำลดลง

“เทศกาลปีใหม่สิ่งที่ สธ.เน้นย้ำคือความปลอดภัยช่วงการเดินทาง และพฤติกรรมป้องกันตนเองทั้งที่บ้านและสถานที่จัดงาน โดยการเดินทางปลอดภัยลดเสี่ยงโควิด ทำได้โดย 1.ประเมินตนเองก่อนเดินทาง 2.ตรวจ ATK 3.หากมีไข้หรือป่วยให้งดเดินทาง 4.พกอุปกรณ์ป้องกันประจำตัว หน้ากากและเจลล้างมือ 5.ล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัส

6.เลี่ยงจุดแออัด รักษาระยะห่างตามเหมาะสม 7.สวมหน้ากากแม้อยู่ในรถ หรือเมื่อไม่ได้อยู่คนเดียว และ 8.ไปถึงจุดหมาย หรือกลับถึงบ้านให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ทั้งนี้ ส่วนใหญ่คนเดินทางทางบก ขอให้เคารพกฎจราจร จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ และไม่ประมาทการ์ดไม่ตกก็ปลอดภัยจากโควิด 19″ นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ส่วนงานเลี้ยงสังสรรค์หากจัดงานที่บ้าน ขอให้ 1.เลือกจัดงานในที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก 2ลดการสัมผัส โอบกอด ลดความเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง 3.กินอาหารปรุงสุก มีภาชนะ ใช้อุปกรณ์ส่วนตัว 4.มีระยะห่าง หากมีกลุ่มเสี่ยงป่วย ขอความร่วมมือลดเลี่ยงการรวมกลุ่ม และ 4.สวมหน้ากากในบ้าน อย่างไรก็ตาม หากปลอดภัยมั่นใจว่าฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ก็พิจารณาจัดให้เหมาะสมได้

ส่วนการเข้าร่วมงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ต่างๆ ขอให้ 1.เลือกสถานที่ไปร่วมงาน ที่ประเมินหรือรับการรับรอง มีเครื่องหมาย COVID Free Setting หรือ SHA+ 2.เลือกไปสถานที่จัดกิจกรรมที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก 3.เลี่ยงงานที่คนจำนวนมาก แออัด 4.ต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA และ 5.เลี่ยงรวมกลุ่มดื่มสุรา

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการทำให้ปีใหม่ห่างไกลโควิดเพื่อครอบครัว คนที่คุณรัก ขอให้ 1.ก่อนเดินทางประเมินตนเอง 2.สวมหน้ากากตลอดเวลา 3.ล้างมือบ่อย 4.อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่ถึงบ้าน 5.หากมีเด็ก สูงอายุ ป่วยติดเตียง ให้เว้นระยะห่างเลี่ยงการใกล้ชิด 6.กินอาหารสะอาด ปรุงสุก แยกกันกิน ถ้ากินร่วมกันใช้ช้อนกลางส่วนตัว และลดการพูดคุยขณะที่กิน

7.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน 8.งดลดเลี่ยงรวมกลุ่มตั้งวงดื่มเหล้า 9.ทำความสะอาดบ่อยๆ จุดสัมผัสร่วมกัน และ 10.สังเกตอาการตนเองทุกวัน หากพบอาการเสี่ยงให้ตรวจคัดกรอง ATK ผลบวกให้รีบไปพบบุคลากรสาธาณสุขใกล้บ้าน

เมื่อถามถึงกรณีไปร่วมงานปีใหม่ งานคอนเสิร์ต หากการ์ดถอดหน้ากากร้องเพลง มีความเสี่ยงเพียงใด นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ป้องกันดีกว่าแก้ไข ผู้จัดงานต้องเคร่งครัดมาตรการตามที่ขออนุญาต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ที่อนุญาตต้องควบคุมกำกับติดตาม คนไปร่วม งานก็ต้องร่วมมือปฏิบัติตนเอง ป้องกันตนเองสูงสุด

หากไปร่วมแล้วพบละเลย คือการเพิ่มความเสี่ยง ขอให้ทุกคนที่เข้าไปทำงานหรือร่วมงานรับวัคซีนครบถ้วน ประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ มีอาการเสี่ยงหรือไม่ หากคิดว่าเสี่ยงก็ตรวจ ATK หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้คนลง เฝ้าระวังสังเกตอาการ 7 วัน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเคร่งครัด เพราะตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็จะได้มีปีใหม่ได้อย่างปลอดภัย

ถามต่อว่า หลังกลับจากเทศกาลปีใหม่ ต้องให้สถานประกอบการตรวจ ATK 100% หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เป็นหลักการที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ทุกคน ตรวจเฉพาะคนที่มีความเสี่ยง เช่น ไปพื้นที่เสี่ยง มีการระบาด ซึ่งเป็นความเสี่ยงในตัวเองก็จะเข้าเกณฑ์ต้องตรวจอยู่แล้ว หากไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง หรืออาการเสี่ยง ฉีดวัคซีนครบก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ยกเว้นแต่ละองค์กรหากมีมาตรการเข้มข้น เพราะหากติดเชื้อแล้วเสี่ยงเสียหายต่อกิจการมากๆ อาจยกระดับตรวจ ATK ทุกคนก่อนกลับเข้าองค์กรก็เป็นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน