‘อนุทิน’ ลั่นหากโควิดดีขึ้นพร้อมชงศบค.ผ่อนคลายมาตรการ สธ.เผยแนวโน้มเริ่มทรงตัว หากทุกอย่างดีขึ้นพิจารณาปรับระดับเตือนภัย เร่งฉีดเข็ม 3 กลุ่มจว.ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการของ สธ.

นายอนุทิน กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่จนถึงวันนี้ เราพบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้น มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ แต่เรามีความพร้อมเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ติดเชื้อ ขณะที่ความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาการรุนแรง อาการหนัก ใส่เครื่องหายใจ และไอซียูไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

ผู้เสียชีวิตแต่ละวันอยู่ในช่วงขาลง ไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่ง ทำให้มั่นใจได้ว่า หากประกอบข้อมูลการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างแนวเดียวกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดได้ง่าย แต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา จึงเป็นประโยชน์มากที่ สธ.จะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นไป เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง

“ในฐานะรัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันว่าผมและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ สธ. สถาบันด้านการแพทย์ต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการที่ประชาชนใช้ชีวิตปกติสุขมากที่สุด และภาคนโยบายและภาคปฏิบัติก็เห็นตรงกันว่า

เมื่อสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น สธ.จะเร่งเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่หากมีเหตุใดอันตรายสุ่มเสี่ยงต่อประชาชนในภาพรวม สธ.พร้อมเร่งชี้แจง และเสนอมีมาตรการเพื่อย้ำเน้นความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในประเทศ 7,916 ราย มาจากต่างประเทศ 242 ราย ผู้เสียชีวิต 15 ราย โดยเป็นกลุ่ม 608 ถึง 13 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ถือว่าลดลง ทั้งนี้ เราคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดของโควิดหลังปีใหม่ เนื่องจากการเดินทางจำนวนมากและน่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพบว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์แรกของม.ค. แต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วันแล้วเริ่มทรงตัว และอาจลดลงได้

ส่วนการเตือนภัยโควิดยังอยู่ระดับ 4 ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดเข้าสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทาง และจะพิจารณาในระยะถัดไป ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะลดระดับการเตือนลง

“ช่วงแรกของ ม.ค.2565 การระบาดค่อนข้างรวดเร็วเป็นไปตามฉากทัศน์เส้นสีเทาที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หลังมีมาตรการและแจ้งเตือน ประชาชนร่วมมือดีทุกภาคส่วน ระมัดระวังมากขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่และลดลงบางวัน จนขณะนี้ลงมาแตะเส้นสีแดงคือระดับปานกลาง

แต่ถ้าทรงตัวอย่างนี้ก็จะลดลงมาอยู่ในเส้นสีเขียว และพยายามทำให้สถานการณ์ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ส่วนอัตราเสียชีวิตยังต่ำกว่าสีเขียว เป็นผลจากโรครุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น จากการร่วมใจกันฉีดวัคซีน ทั้งเข็ม 1 2 และบูสเตอร์ เมื่อภูมิคุ้มกันดี โรคอ่อนแรงลง ก็อยู่กับโรคปลอดภัยมากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัดสธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดได้สะสม 108.59 ล้านโดส จากการที่กระทรวงมหาดไทยปรับฐานประชากรใหม่ เมื่อคำนวณแล้วทำให้การฉีดวัคซีนเข็มแรกที่ฉีดได้ 51.6 ล้านคน ความครอบคลุมจึงเพิ่มขึ้นเป็น 76.92% ส่วนเข็มสอง 47.2 ล้านคน ครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 70.32% และฉีดเข็ม 3 จำนวน 9.15 ล้านคน ครอบคลุม 13.63% นอกจากนี้ จะพยายามฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ หรือจังหวัดท่องเที่ยวให้ถึง 50% ใน 1-2 เดือนนี้ หากทำได้จะจะถือว่าประเทศมีความปลอดภัยอีกระดับหนึ่ง

สำหรับมาตรการรับมือโอมิครอนมี 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อชะลอการระบาด เนื่องจากโอมิครอนติดเร็ว หากเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุข แม้โรคจะไม่รุนแรง แต่ถ้าระบาดซ้ำ อาจเกิดการกลายพันธุ์ได้ แต่ที่ทำมา 14 วันถือว่าชะลอระบาดได้ผลค่อนข้างดี ควบคุมการระบาดได้ในจุดหนึ่ง ไม่ได้ระบาดรวดเร็วรุนแรงจนโกลาหล อยู่ในการควบคุม ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือ ทำให้การชะลอคุมการระบาดง่ายขึ้น และขอความร่วมมือฉีดวัคซีน คัดกรองตนเองด้วย ATK ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

2.มาตรการการแพทย์ มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ เน้นการดูแลที่บ้าน (HI First) เพราะโรคไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมากถึง 90% มีการเชื่อมโยงบริการ มียา มีการให้ข้อแนะนำดูแล และติดตามอาการทุกวัน หากอยู่ที่บ้านไม่ได้ก็จะให้ไปดูแลในชุมชน (CI) และถ้าอาการเพิ่มขึ้นสามารถติดต่อช่องทางด่วนเข้ารักษา รพ.ทันที

3.มาตรการทางสังคม ขอให้ร่วมมือป้องกันตนเองสูงสุด เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือประจำ สถานประกอบการใช้ COVID Free Setting ชะลอการเดินทาง

4.มาตรการสนับสนุน ให้ทำค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าตรวจต่างๆ เหมาะสม

“ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันทำ VUCA คือ V ไปฉีดวัคซีนตามกำหนด ป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต U ป้องกันตนเองทุกคนทุกที่ทุกเวลา C COVID Free Setting ให้สถานที่ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการมีความปลอดภัย และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมจัดเตรียมไว้ 1 ล้านชุด ราคา 35 บาท” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน