“อนุทิน” แจงทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น โควิดฟรีคันทรี ตั้งเป้าตายเป็นศูนย์ ย้ำยังไม่ได้ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แค่ประกาศหลักเกณฑ์เพื่อทำแผนบริหารจัดการ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางและระยะเวลาการทำให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า เราประเมินสถานการณ์ ทั้งอาการผู้ป่วย สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ เราไม่ได้ต้องการดูที่ตัวเลข แต่เราต้องการลดความรุนแรงของโรคและสามารถอยู่กับมันได้ เราไม่อยากขี่ช้างจับตั๊กแตน หากมันไม่แรงก็ต้องรับมืออย่างเหมาะสม ไม่ใช่ทุ่มเทสรรพกำลังโดยที่ฤทธิ์ของมันยังอยู่เท่าเดิม ทุกอย่างจะได้ก้าวหน้าต่อไปได้

อย่างขณะนี้ผู้ติดเชื้อคงที่ประมาณ 6-7 พันคนต่อวัน เตียงยังว่างอยู่ ไอซียูว่าง อุปกรณ์ครบ ยาวัคซีนพร้อม วันที่ 31 ม.ค.วัคซีนเด็ก 5-11 ปี ก็เริ่มฉีด ดังนั้นจำนวนกลุ่มที่แพร่เชื้อก็จะลดลงไปอีก ตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มเด็กที่แพร่เชื้อให้กับผู้ใหญ่ได้

“จำนวนผู้เสียชีวิตแม้จะเกิน 20 ราย แต่พิจารณาข้อมูลเชิงวิเคราห์ยังเป็นกลุ่ม 608 ยังไม่ได้รับวัคซีน หากอยู่ดีๆ กลายเป็นอีกอย่างก็ต้องปรับปรุง การลดจากการแพร่ระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่นก็เพื่อทำให้กลไกต่างๆ ของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ ผู้คนจะได้ทำมาหากิน การจ้างงานก็จะได้เกิดมากขึ้น การผลิตส่งออกต่างๆ จะได้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

แต่ด้วยความระมัดระวัง เราก็ยังมีมาตรการ เช่น VUCA ถ้าทำได้โอกาสติดเชื้อก็จะยากขึ้น วัคซีนบูสเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกำหนดของผู้ที่ฉีดเข็มสองครบแต่ละช่วงเวลา ตอนนี้ยังถือว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมได้ดี” รมว.สธ. กล่าว

เมื่อถามว่า นักวิชาการทวงติงการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้คนอาจจะละเลยมาตรการ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ VUCA และ DUKE ถามว่ามีประเทศไหนในโลกที่คนให้ความร่วมมือเท่าประเทศไทยบ้าง สื่อสารเรื่องโควิดทุกวัน เร่งให้มาฉีดวัคซีน เพราะมีวัคซีนมีไม่อั้น หรือคนป่วยติดเชื้อโควิดได้รับการรักษาพยาบาลเข้าถึงแพทย์ทุกคน

ของเรามี HI ซึ่งมีแพทย์โทรเยี่ยมทุกวัน มีอาการเข้าฮอสปิเทล อาการหนักเข้า รพ. หากหนักมากมีไอซียู เพราะประเทศไทยเราพร้อมแบบนี้ เราจึงไม่มีปัญหา คนไทยไปป่วยต่างประเทศต้องขังตนเองอยู่ในโรงแรม ไปหาหมอก็ไม่รับ จนกว่าอาการหนักก่อน แต่เมืองไทยไม่มี ก็แสดงว่ามันดีอยู่แล้ว

“เที่ยวนี้ที่บริหารสถานการณ์ได้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่เรากล้าที่จะใช้ HI ปีที่แล้วเราอยากให้การดูแลผู้ป่วยทุกคนเข้า รพ. แต่ปีนี้ติดเชื้อไม่รุนแรงเข้า HI มียาและอาหาร 3 มื้อจาก สปสช. เพราะหากไม่ให้อาหารก็อาจมีโอกาสออกมาซื้ออาหารและแพร่เชื้อ เราวางทุกระบบจนทำให้สามารถควบคุมได้

วันนี้เราผ่านเทศกาลปีใหม่มาจะครบเดือนแล้ว คนที่ติดเชื้อตอนนี้ไม่เกี่ยวหรือมาจากคลัสเตอร์ปีใหม่แล้ว จะเป็นคนติดเชื้อทั่วไป เพราะยังสัญจรไปมาอยู่ คนป่วยก็ต้องดูว่าป่วยเพราะไม่มีโรคอื่นหรือไม่ รับโอมิครอนมาแล้วปอดถูกทำลายรักษาไม่ได้เสียชีวิตก็ไม่ใช่ ปรากฏว่าคนป่วยยังเป็น 608 ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่ เราก็ยังควบคุมสถานการณ์ได้ ขอให้สื่อสารออกข่าวให้ทุกคนเข้าใจ” นายอนุทิน กล่าว

ถามกรณีที่รองโฆษกสำนักนายกฯ ระบุเรื่อง COVID Free Country มีความหมายอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า หมายถึงประเทศที่ปลอดโควิดหรือควบคุมโควิดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ปลอดได้อย่างไร ก็ด้วยวัคซีน ยา ความร่วมมือของประชาชน Universal Prevention คำว่าโควิดฟรีไม่ได้หมายความว่าไม่มีในโลกนี้ แต่โควิดทำอะไรเราไม่ได้ ซึ่งเราพยายามทำให้ไปในทิศทางนั้นให้ได้ ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อเป็น 0 แต่เป้าหมายการเสียชีวิตต้องเป็น 0 ซึ่ง 2 ปีที่แล้วก็ทำได้มาแล้ว เป็น 0 มาได้ถึง 6-7 เดือน ทั้งนี้ คลัสเตอร์ส่วนใหญ่ยังมาจากการกินข้าวร่วมกัน

เมื่อถามว่า คนเข้าใจเป็นการประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ย้ำว่าเป็นประกาศเกณฑ์เพื่อทำแผน โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 ระยะเวลา 6 เดือน และเฟสที่ 2 อีก 6 เดือน หากไม่ปัจจัยมาทำให้เกิดการระบาดเข้ามา คิดว่าภายใน 6 เดือนต้องพยายามทำให้ได้ จึงต้องวางแผนว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง

ทั้งการฉีดวัคซีน มาตรการควบคุมโรค การปรับกฎหมายต่างๆ ต้องมีความสอดคล้อง รวมถึงการรักพยาบาล ก็ต้องให้เวลาเพื่อเป็นการบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าขณะนี้ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่เรามีเกณฑ์เพื่อนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้ สธ.ดำเนินการทำแผนการจัดการต่อไป

ถามว่า การปรับเป็นโรคประจำถิ่น การรักษาตามสิทธิ์ยังคงอยู่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ครบ 2 ปีของการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคโควิด 19 (อีโอซี) ซึ่งประชุมครั้งแรกวันที่ 28 ม.ค. 2563 ประชุมมาแล้ว 411 ครั้ง ปีละมากกว่า 200 ครั้ง

ฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่ดูจากการประชุมประจำ ดูความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ องค์ประกอบอื่นๆ และการรับรู้ของประชาชน เราคิดว่าไม่ให้เกินปีที่จะควบคุมให้เป็นโรคประจำถิ่น ถ้าปล่อยไปเฉยๆ อาจจะใช้เวลามาก คือโรคลดลงแต่อาจมีการระบาดเป็นครั้งคราว เราก็ต้องใช้การบริหารจัดการ

และเชื่อว่าน่าจะบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ การให้บรรลุเป็นโรคประจำถิ่นก็ต้องกำหนดเกณฑ์ ซึ่งไม่มีใครมีเกณฑ์ ก็ใช้วิชาการมาเป็นหลักการ จึงต้องมาทำมาตรการ กลวิธี รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการรักษาโรคไม่มีปัญหา ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าโรคอะไรก็รักษาให้อยู่แล้ว

ระบบประกันสังคม และสวัสดิการราชการ มีทั้ง 3 ระบบหลักให้การดูแลอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่มีสิทธิอย่างต่างด้าว สธ.ก็ได้ของบประมาณมารองรับ ซึ่งที่ผ่านมาของบประมาณมารักษาโควิดต่างด้าวไร้สิทธิถึง 4 พันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุนดูแลเต็มที่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน