ศบค.เผยสัปดาห์นี้แนวโน้มติดเชื้อเริ่มลด พบ 10 จังหวัดติดแบบคูณ 2 อีก 10 จังหวัดทิศทางเพิ่มขึ้นเร็ว กทม.คลัสเตอร์เพียบ ทั้งแคมป์ก่อสร้าง-โรงเรียน

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.65 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกติดเชื้อ 2.48 ล้านราย ถือว่าลดลง เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต 5.4 พันรายที่ลดลง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ทิศทางก็ลดลง แต่ทางเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ หรือประเทศไทย ซึ่งเกินหลักหมื่นรายต่อเนื่อง

วันนี้ติดเชื้อ 14,900 ราย หายป่วย 9,810 ราย กำลังรักษาตัว 129,933 ราย อาการหนัก 687 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 138 ราย ขอให้มารับวัคซีนเข็มสามจะช่วยลดการติดเชื้อ อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ส่วนการเข้าประเทศจากทุกรูปแบบ คร่าวๆ เข้ามา 7-8 พันต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1-13 ก.พ. เข้ามา 78,793 ราย ติดเชื้อ 2,351 ราย คิดเป็น 2.98% ส่วนใหญ่เป็นระบบแซนด์บ็อกซ์ แต่ยังพูดว่าเพราะ Test&Go เพิ่งเปิดลงทะเบียนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และแนวโน้มดูเพิ่มขึ้น

ส่วนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบมาจากรัสเซีย เยอรมนี จะปิดประเทศหรือไม่นั้น เน้นย้ำว่าการผ่อนคลายก็จำเป็น ต้องควบคู่เศรษฐกิจและป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ไม่มีวิธีใดที่จะยึดเอาจากต่างประเทศได้ ต้องพิจารณาจากข้อมูลในประเทศ

ตั้งแต่ปีใหม่การติดเชื้อทิศทางสูงขึ้น แต่สัปดาห์นี้แนวโน้มกราฟทำท่าว่าจะลง แต่ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะหลายจังหวัดในประเทศติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต้องดูรายงานแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนที่เราห่วงคือ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งบ้านเราการติดเชื้อเป็นโอมิครอน 80% เดลตา 20% ดังนั้นจะสรุปว่าเป็นการติดเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรงก็ยังวางใจไม่ได้

ส่วนวันนี้เสียชีวิต 26 ราย มาจาก กทม.สูง 9 ราย โดย 14 รายไม่เคยรับวัคซีนเลยสักเข็ม รับเข็มเดียว 2 ราย รับ 2 เข็ม 2 ราย แต่ทิ้งช่วงห่างเกิน 4 เดือน และเข็มสาม 2 ราย เนื่องจากเพิ่งได้รับเข็มสาม ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กทม.แม้ติดเชื้อลดลงเหลือ 2,892 ราย ก็ยังสูงอยู่ กระทรวงสาธารณสุขทำกราฟว่า ตั้งแต่ต้นปี ถึงสัปดาห์ที่ 6 สัปดาห์ มีจังหวัดที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือดับเบิล คือ กทม. ปริมณฑล โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่มีรายงานสูงสุด เช่น กทม.จาก 9.7 พันราย เพิ่มเป็น 1.7 หมื่นราย, สมุทรปราการ จาก 4-5 พันราย เป็น 6.9 พันราย,

ชลบุรีจาก 2.5 พันรายเป็น 4.8 พันราย, นนทบุรี จาก 2.7 พันราย เป็น 4.3 พันราย, ภูเก็ต 2.5 พันราย เป็น 3 พันราย, นครราชสีมา จาก 1 พันราย เป็น 2.2 พันราย, ราชบุรี จาก 900 รายเป็น 2 พันราย, สมุทรสาคร 911 ราย เป็น 2 พันราย, นครศรีธรรมราช 912 ราย เป็น 1.9 พันราย และ นครปฐม จาก 749 ราย เป็น 1.8 พันราย

หลายจังหวัดแม้ไม่ได้เพิ่มอย่างกลุ่ม 10 จังหวัดแรก แต่มีทิศทางเพิ่ม เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี มหาสารคาม ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี และเพชรบุรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรวมการติดเชื้อสูงยังเป็นใน กทม. ปริมณฑล พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว การวิเคราะห์คลัสเตอร์แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน

คลัสเตอร์สำคัญยังเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์, ตลาด ซึ่งที่ติดเชื้อซ้ำซาก คือ แออัด ระบายอากาศไม่ดี ผู้ค้า ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา ลูกค้าก็แออัด ไม่จำกัดจำนวนคน ไม่เข้มงวดการตรวจ ATK , สถานประกอบการ โรงงาน มักติดเชื้อในส่วนของการกินอาหารร่วมกัน เพราะเจอทุกวันไว้วางใจ เปิดหน้ากากพูดคุย ไม่เว้นระยะห่างเพียงพอ และมักรับเชื้อจากบ้านมากระจายที่ทำงาน ทำงานไม่เคร่งครัดมาตรการ ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา

เน้นย้ำมาตรการ Bubble&Seal เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไปยังแผนกอื่น , งานประเพณี มีทั้งงานศพ พิธีกรรมไม่ได้เกิดโอกาสแพร่เชื้อ แต่หลังพิธีกรรมมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกัน ตั้งวงดื่มสุรา ละเล่นหมอลำ ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญติดเชื้อ

กทม.คลัสเตอร์น่าห่วง 2 เขต ที่ติดเชื้อเกินร้อยราย คือ ราชเทวี และป้อมปราบศัตรูพ่าย ส่วนอีก 9 เขต ติดเชื้อเกิน 60 ราย ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร หนองแชม ห้วยขวาง สะพานสูง ดุสิต บางพลัด และบางแค ทั้งนี้ เขตดอนเมืองติดเชื้อจากแคมป์คนงาน 228 คน จากทั้งหมด 758 คน คิดเป็น 30.01%

กทม.วิเคราะห์การติดเชื้อเหมือนประเพณี การทำงานไม่ได้เป็นปัจจัยหลักติดเชื้อ แต่เวลาพักรวมกลุ่มสูบบุหรี่ ใช้กระติกน้ำ แก้วน้ำร่วมกัน พบปัจจัยการติดเชื้อในห้องน้ำที่ใช้ร่วมกัน ไม่ทำความสะอาด รถรับส่งที่แออัด

นอกจากนี้ กทม.ยังพบการติดเชื้อในโรงเรียน 13 โรง ทั้งอนุบาล มัธยม โรงเรียนประจำ ปัจจัยส่วนใหญ่พบนักเรียนติดเชื้อจากครอบครัว พอมาโรงเรียน ไม่ได้คัดกรองและเกิดการแพร่เชื้อในชั้นเรียน จุดสัมผัสร่วมคือตู้กดน้ำดื่ม โต๊ะอาหาร คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ รถรับส่งด้วย

รวมถึงจัดพิธีจบการศึกษา สังสรรค์รวมกลุ่ม ย้ำว่าช่วงนี้ผ่อนคลายเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน แต่ยังต้องเข้มงวดมาตรการ การรวมกลุ่มต้องงดเว้น ฝากพ่อแม่ผู้ปกครองประเมินไทยเซฟไทยทุกวัน รวมถึงบุคลากรครูช่วยคัดกรองความเสี่ยง หากมีอาการให้แจ้งไปโรงเรียนก็จะป้องกันได้

กทม.เข้าระบบ HI 19,040 ราย รับใหม่ 1,829 ราย CI 27 แห่ง ใช้บริการ 1,144 ราย ศักยภาพการรองรับและเตียงสีเหลืองสีแดง ใช้งาน 40% ยังมีเตียงเหลือ ที่ สธ.กังวลคือการฉีดเข็มสามยังลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ และเมื่อต้องผ่อนคลายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เปิดเรียน เปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ

เน้นย้ำประชาชนเฝ้าระวังป้องกันส่วนบุคคลเข้มงวด สถานประกอบการหากมีพนักงานยังไม่รับวัคซีน ให้ติดต่อเข้ารับวัคซีน เข้มมาตรการสาธารณสุขจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน