สธ.แจงแนวคิดถอดแมสก์ นำร่องพื้นที่สีเขียว-สีฟ้าก่อน ดูเป็นรายพื้นที่-สถานที่ คนฉีดวัคซีนเข็ม 3 เกิน 60-70% กลุ่มเสี่ยง 608 สถานที่แออัดยังต้องสวม

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.65 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องการปรับคำแนะนำการใส่หน้ากากอนามัย ว่า หน้ากากอนามัยเป็นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล การใส่ก็ป้องกันตัวเราเอง ถ้าฉีดวัคซีนแล้วป้องกันป่วยรุนแรงได้ ป้องกันติดเชื้อได้ไม่สูง อยากป้องกันได้มากก็ควรสวมหน้ากากอนามัย

โดยเฉพาะพื้นที่ปิดอับ มีการสัมผัสใกล้ชิด ระยะต่อไปในเชิงมาตรการเป็นการเริ่มว่าการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ก็คงปรับมาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะกรณีผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 หรือป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่เป็นวงกว้างจนควบคุมไม่ได้ การป้องกันระดับบุคคลอาจลดระดับลง

เพราะฉะนั้นมาตรการเรื่องการ สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นมาตรการส่วนบุคคลจะเริ่มปรับในพื้นที่ที่มีความพร้อม ไม่ใช่แค่มาตรการควบคุมโรค ความพร้อมคนฉีดวัคซีน ความพร้อมสถานการณ์โรคในพื้นที่ ที่ไหนระบาดเยอะๆ ก็ยังถอดไม่ได้ ที่ไหนที่ระบาดน้อย คนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 60-70% ก็มีความเสี่ยงน้อย เป็นแผนและมาตรการที่คณะทำงานจะพิจารณาจากข้อมูล ปรึกษาหารือในการวางแผนต่อไป

“ตรงนี้เป็นทิศทางการผ่อนคลายการเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ คงมีเรื่องมาตรการส่วนบุคคลเข้ามาด้วย และบางกลุ่มอาจจะต้องป้องกันก่อน เช่น 608 ต้องใส่หน้ากาก ไปที่แออัดก็ยังต้องสวม ที่โล่งแจ้งไปออกกำลังก็น่าจะถอดหน้ากากได้” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

เมื่อถามถึงพื้นที่ที่มีความพร้อมจะเริ่มเป็นบางพื้นที่หรือทั้งจังหวัด นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ต้องดูหลายพื้นที่ แต่พื้นที่ที่คิดว่าเริ่มก่อนคือสถานการณ์ดี คือ สีเขียวและสีฟ้าที่มีความพร้อม จะพิจารณาจากพื้นที่เหล่านี้ร่วมกับสถานการณ์อื่นๆ ไม่ใช่ว่าพื้นที่เขียวแล้วถอดหมด และยังกำหนดไม่ได้ว่าจะเริ่มเมื่อไร เพราะยังต้องพิจารณาก่อน

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายพื้นที่และดูสถานที่ด้วย กลางแจ้งอาจผ่อนคลายก่อน สถานที่อับ รวมกลุ่มคนใกล้ชิดมากๆ จำเป็นต้องสวมไว้ก่อน เพื่อลดการระบาดของโรค

เมื่อถามว่า ต้องเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ก่อนหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในการผ่อนคลายที่ไม่ต้องสวมหน้ากากได้ในบางพื้นที่ จะต้องแจ้งให้กับ ศบค.รับทราบด้วย

สำหรับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ได้แก่ พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จาก 65 จังหวัด ลดลงเหลือ 46 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) เพิ่มเป็น 14 จังหวัด พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) จาก 12 จังหวัด เพิ่มขึ้นเป็น 17 จังหวัด

โดยพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้า สามารถเปิดให้บริการสถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยมีกำหนดเวลาในการให้บริการ จำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น.

พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) 17 จังหวัด คือ กระบี่, กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, นครราชสีมา, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, เพชรบุรี, ภูเก็ต, ระยอง และสงขลา (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน