สธ.พบ 1 รายป่วยฝีดาษลิง เผยมาต่อเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมงก่อนไปออสเตรเลีย ติดตามผู้โดยสาร-ลูกเรือ 12 คน สัมผัสใกล้ชิด ยันไม่ได้ติดกันง่ายๆ ต้องใกล้ชิดจริงๆ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทย ว่า โรคฝีดาษลิงทั่วโลกพบผู้ป่วยใน 32 ประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค.65 มีผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย เช่น แคนาดา 63 ราย อังกฤษ 101 ราย เยอรมนี 22 ราย สเปน 139 ราย โปรตุเกส 74 ราย

ส่วนที่มีรายงานรายใหม่ เช่น ไอร์แลนด์, มอร์ต้า, เม็กซิโก, เอกวาดอร์ และปากีสถาน ประเทศละ 1 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนยังไม่มีรายงานผู้ป่วย

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังโรคในประเทศไทย ว่า “นิยามผู้ป่วยสงสัย” คือ 1.มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต ไม่ว่าจะที่คอ ศอก ขาหนีบ 2.มีผื่นตามลำตัว ใบหน้า แขนขา ลักษณะเริ่มจากผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด

“ดังนั้น แม้จะไม่มีไข้แต่มีผื่นเหล่านี้ก็นับเข้านิยามอยู่ โดยทั้งหมดนี้จะร่วมกับประวัติเชื่อมโยงระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน หรือก่อนมีอาการ คือ 1.มาจาก/อาศัยในประเทศที่รายงานการระบาดฝีดาษลิง เช่น แอฟริกา แคนาดา สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ 2.ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษ หรือมีอาชีพสัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ 3.สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า

แต่ต้องย้ำว่าแม้เป็นฝีดาษลิง แต่สัตว์แพร่โรคยังมีสัตว์ฟันแทะ สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น หนู ลิง แต่เป็นสัตว์ที่มีต้นกำเนิดหรือนำเข้ามาจากแอฟริกาเป็นหลัก ฉะนั้น ลิงเมืองไทยที่ไม่เคยไปแอฟริกามาก่อน หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้านไม่ได้นำเข้าจากแอฟริกา ยังไม่เข้าเกณฑ์ การให้อาหารลิงตามสถานที่ต่างๆ จึงยังทำได้ตามปกติ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า สำหรับ “นิยามเข้าข่าย” คือ กลุ่มผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง ได้แก่

1.สัมผัสผิวหนังโดยตรง สัมผัสสิ่งของร่วม การอยู่ร่วมบ้าน อยู่ใกล้ผู้ป่วยยืนยันใกล้ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาทีขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีอาการป่วยและประวัติใกล้ชิดที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ป่วยสงสัยและเข้าข่าย หากเข้ารักษาในสถานพยาบาล ต้องตรวจหาเชื้อทุกราย เพื่อยืนยันโรคฝีดาษก่อน ทั้งนี้ แนวทางจัดการผู้ป่วยตามนิยาม แบ่งเป็น 1.ผู้ป่วยสงสัย ตรวจหาเชื้อ

2.ผู้ป่วยเข้าข่าย ตรวจหาเชื้อ สอบสวนโรค พิจารณาแยกกักตัว จนกว่าตรวจไม่พบเชื้อ

3.ผู้ป่วยยืนยัน รักษา 21 วันนับจากวันที่ป่วย

ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงในไทยยังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเหมือนโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย อีสุกอีใส อหิวาตกโรค จึงยังไม่มีการเริ่มกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยก่อน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคเตรียมทีมสอบสวนโรคทุกจังหวัด หากพบผู้ป่วยเข้ามาต้องสอบสวนให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงแรก รวมถึงติดตามเตรียมเวชภัณฑ์ ยา และวัคซีนด้วย

อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังฝีดาษลิงในด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ก็พบ 1 ราย ที่บินมาจากประเทศทางยุโรป มาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง เพื่อไปออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วพบว่ามีอาการ ตรวจเชื้อแล้วเป็นผู้ป่วยยืนยัน

ทั้งนี้ ระหว่างต่อเครื่องยังไม่มีอาการป่วย จึงถือว่าผู้สัมผัสใกล้ชิด ไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เพราะตอนใกล้ชิดยังไม่ได้ป่วย จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยสงสัย แต่เรายังต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือผู้โดยสารเครื่องบิน ลูกเรือ รวม 12 คน ตอนนี้ผ่านมา 7 วันแล้ว ยังไม่พบผู้ที่มีอาการ เราจึงต้องติดตามให้ครบ 21 วัน

“การประเมินความเสี่ยงของไทยต่อฝีดาษลิง พบว่าความเสี่ยงสำคัญเป็นกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ อาจมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมที่พบผู้ป่วยยืนยัน หรือเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงที่พบการระบาดในประเทศแล้ว ฉะนั้นเราต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศดังกล่าว” นพ.จักรรัฐกล่าว และว่า คำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมเสี่ยงในต่างประเทศ ยังต้องเว้นระยะห่าง ล้างมือให้มากเพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มาต่อเครื่องบิน (ทรานซิท) ในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และมาทรานซิทในไทยไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน

“โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class นั่งห่างกันพอสมควร ซึ่งการติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริงๆ ถ้าอยู่ห่างๆ ไม่ค่อย เพราะเชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ ดังนั้น โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน