สำนักพิมพ์มติชน มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน คณะศิลปศาสตร์ มธ. เชิญร่วมงาน 90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม 23 มิ.ย.65 ณ คณะศิลปศาสตร์ มธ.

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร…จงพร้อมใจกันช่วยเหลือคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ…การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง” บางส่วนจากประกาศคณะราษฎร ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

จากมิถุนายน 2475 ถึง มิถุนายน 2565 เป็นเวลา 90 ปีที่ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของไทยหรือที่เราเรียกกันว่า “การอภิวัฒน์สยาม” ถือกำเนิดขึ้น โดย “คณะราษฎร” กลุ่มบุคคลที่ดำเนินการปฏิวัติ เหตุการณ์คราวนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบที่เรียกว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นำไปสู่การแปรเปลี่ยนไปของสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในหลากหลายมิตินับจากนั้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประวัติศาสตร์หน้านี้ได้ออกเดินทางสู่สำนึกของผู้คน ขณะเดียวกันก็ได้ถูกทำให้สูญหายไปจากความทรงจำของสังคมในหลายหน หากแต่วันเวลาและพลังของการเปลี่ยนแปลงก็ได้ปลุกให้ประวัติศาสตร์คณะราษฎร หวนกลับมาเกิดใหม่ได้อีกหลายครั้ง ทั้งในบทสนทนา ในสื่อสิ่งพิมพ์ ในมโนสำนึกของคนหนุ่มสาว ในขบวนการภาคประชาชน

วาระครบรอบ 90 ปี 2475 ในเดือนนี้ สำนักพิมพ์มติชน, มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมจัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชวนทุกท่านกลับมาทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิตและความหมายของผู้คน และสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันว่า ประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยามจะยังคงดำรงอยู่ในความทรงจำของสังคมไทย ทั้งยังคงหวนกลับมาสนทนากับทุกยุคสมัยของพวกเราได้อย่างไม่หลบซ่อน…และมิใช่เพียงในยุคสมัยของพวกเราเท่านั้น หากแต่เป็นยุคสมัยของ บุตร หลาน เหลน ฯลฯ ของพวกเราในอนาคตด้วยเช่นกัน

กำหนดการและรายละเอียดกิจกรรมภายในงาน 1.ปาฐกถาพิเศษและเวทีเสวนา (Talk On Ground and Online เพจ Matichonbook/Matichon/มติชนสุดสัปดาห์/ศิลปวัฒนธรรม) เวลา 12.30-16.00 น. สถานที่ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้ 12.30-13.00 ลงทะเบียน 13.00-13.30 (30 นาที) ปาฐกถา 90 ปีคณะราษฎร ปาฐกถา เนื่องในโอกาส 90 ปีคณะราษฎร ความเป็นมาและความสำคัญของการทบทวนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากอดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า 1. ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2. ดร. ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

เวลา 13.30-15.30 (2 ชั่วโมง) เสวนา (อ่าน) 90 ปีคณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต เสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชวนพูดคุยถกถามถึงการเดินทางกว่า 90 ปีของประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม ตั้งแต่ก่อน (กาล) เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง

รวมทั้งหลากหลายมิติในการเปลี่ยนแปลงจาก 2475 ที่ยังคงเชื่อมโยงส่งผลถึงปัจจุบัน และร่วมวาดหวังถึงการเมืองไทยในอนาคต วิทยากร: 1.คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ 2.ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง 3.ผศ. ดร.ชาติชาย มุกสง ดำเนินรายการ:เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เวลา 15.30-15.45 มอบหนังสือบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์มติชนมอบหนังสือกลุ่มประวัติศาสตร์ 2475 ให้กับผู้บริหาร/ผู้ดูแลห้องสมุดต่างๆ ประจำคณะศิลปศาสตร์/รัฐศาสตร์/นิติศาสตร์/วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ผู้บริหารมติชน: คุณนฤตย์ เสกธีระ ผู้บริหารม.ธรรมศาสตร์

2.กิจกรรม Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์ ในเวลา 16.00-18.00 น. สถานที่ บริเวณใกล้เคียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำบรรยายโดย: ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ และ ผศ. ดร.ณัฐพล ใจจริง

การอภิวัฒน์สยาม มิได้เปลี่ยนแปลงเพียงเรื่องของการเมืองเท่านั้น หากแต่เปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์วิถีใหม่ในหลากมิติของสังคมไทย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของศิลปะและสถาปัตยกรรม กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่จะชวนทุกคนมาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ที่แฝงฝังอยู่ใน ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์คณะราษฎร โดยมีเส้นทาง ดังนี้

•จุดที่ 1 ตึกโดม ธรรมศาสตร์- ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

•จุดที่ 2 เดินผ่านเส้นทางสนามหลวง—ชมประตูสวัสดิโสภา—กระทรวงกลาโหม ชมระเบียงประวัติศาสตร์

•จุดที่ 3 สวนสราญรมย์ ชมอาคารสมาคมคณะราษฎร และพื้นที่แห่งการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ

กำหนดการ Walking Tour 90 ปี 2475 มีดังนี้ เวลา 15.45-16.00 น.ลงทะเบียน-เตรียมความพร้อม เวลา 16.00-18.00 น. (2 ชั่วโมง) จุดเริ่มต้น: ลานริมน้ำ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกริ่นความสำคัญของกิจกรรมและศิลปะ-สถาปัตยกรรม คณะราษฎร

จุดที่ 1 ตึกโดมธรรมศาสตร์-ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดที่ 2- เดินผ่านเส้นทางสนามหลวง – ชมประตูสวัสดิโสภา – กระทรวงกลาโหม ชมระเบียงประวัติศาสตร์

จุดที่ 3 – สวนสราญรมย์ ชมอาคารสมาคมคณะราษฎร และพื้นที่แห่งการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดเส้นทาง Walking Tour

การลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมล่วงหน้า สำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อร่วมงานจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ดังนี้
•Road Map ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร
•เข็มกลัดหมุดคณะราษฎร
•สมุดโน้ต 90 ปีอภิวัฒน์สยาม
•สติกเกอร์ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม
•ที่คั่นคณะราษฎร

ลิงก์สำหรับลงทะเบียนล่วงหน้า https://forms.gle/8akdK3nS7Gxe8D7HA หรือสแกน QR CODE หรือโทรลงทะเบียนได้ที่ Tel. 02-5890020 ต่อ 1235 หรือ 1205 หรือ 1206 (คุณศิริวรรณ ถนัดช่าง/คุณอุบล น้ำแก่ง/คุณภานุมาศ นกนาค)

หนังสือใหม่ในวาระ “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” 1.ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่) ผู้เขียน: นิยม สุขรองแพ่ง บรรณาธิการ: นริศ จรัสจรรยาวงศ์ จำนวน: 528 หน้า I ราคา 495 บาท ประเภท: ประวัติศาสตร์ I สเปค: ปกอ่อน ขาวดำทั้งเล่ม

เรื่องย่อ ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529 ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนนำมาพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2565 มีการเพิ่มภาคผนวกต่างๆ เข้ามาในเล่มด้วย และบทบรรณาธิการที่บอกเล่าถึงเอกสารเกี่ยวกับกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” ที่น่าสนใจ

เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของไทย คณะกู้ชาตินำโดยนายทหารเรือหนุ่มก่อการจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้รัฐบาลเวลานั้นออกจากอำนาจ ทว่าฝ่ายรัฐบาลกลับใช้กำลังทหารและตำรวจตอบโต้อย่างรุนแรงจนนำไปสู่การปะทะนองเลือด ท้ายสุดฝ่ายคณะกู้ชาติพ่ายแพ้ กองทัพเรือถูกลดอำนาจและบทบาท ขณะที่รัฐบาลรัฐประหารสามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการโดยมีกองทัพบกเป็นขุมกำลังสำคัญอยู่ยงต่อมาหลายทศวรรษ

ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” ของนิยม สุขรองแพ่ง หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองเล่มสำคัญ ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยนริศ จรัสจรรยาวงศ์ บรรณาธิการและนักเขียนผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์มติชนได้เพิ่มบทบรรณาธิการขยายแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน และภาคผนวกบันทึกของผู้ร่วมเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันตั้งแต่ระดับจอมพลถึงคนสามัญ

จุดเด่น
•หนังสือสารคดีประวัติศาสตร์การเมืองที่อ่านง่าย เรียบเรียงเนื้อหาอย่างสนุกสนาน

•หนังสือหายากและเหมาะกับการสะสม

•ฉบับปรับนี้เป็นฉบับที่นำมาพิมพ์ใหม่ ออกแบบปกใหม่ และปรับปรุงเนื้อหาให้ครบถ้วนรอบด้านขึ้น

2.ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินหลัง ๒๔๗๕ ผู้เขียน: ชาติชาย มุกสง จำนวน: 392 หน้า I ราคา 360 บาท ประเภท: ประวัติศาสตร์ I สเปค: ปกอ่อน ขาวดำทั้งเล่ม

เรื่องย่อ การต่อสู้และต่อรองความหมายทางการเมืองด้านรสชาติถูกแฝงไปยังปลายลิ้น หากกลุ่มใดในสังคมสามารถครองอำนาจนำที่ปลายลิ้นได้ ก็ย่อมสามารถครองอำนาจทางการเมืองวัฒนธรรมในระดับมวลชนได้เช่นกัน

หลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้นำแนวคิดโภชนาการใหม่เข้ามาปะทะประสานกับการเมืองสมัยใหม่ ผลักดันให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมด้านอาหาร ความสำเร็จของการปฏิวัติที่ปลายลิ้นยังได้นำไปสู่กระบวนการช่วงชิงความหมายและสร้างนิยามมาตรฐานด้านรสชาติอาหารใหม่อีกครั้งของกลุ่มชนชั้นสูงในเวลาต่อมา

ชวนลิ้มลองรสชาติของการปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสปรุงแต่งสู่การกินแบบประชาธิปไตย

จุดเด่น

•งานเขียนไม่เพียงเสนอประเด็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์การเมืองศีลธรรม มรดกของคณะราษฎรที่เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติ 2475 แต่ยังเชื่อมโยงสู่กระแสโลกภายนอกและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การแย่งชิงอำนาจและบทบาททางการเมืองของชนชั้นสูงและสถาบัน

•เนื้อหามีความแข็งแรง ครบถ้วนและสมบูรณ์ ประเด็นย่อยของแต่ละบทสอดคล้อง เชื่อมโยง และเรียบเรียงเป็นลำดับขั้นตอน นำเสนอให้เห็นแง่มุม แนวคิด ตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติ 2475 จนถึงยุค 2500 มีบทสรุปให้เห็นถึงบริบทในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังชวนผู้อ่านตั้งคำถามเพื่อคิดต่อจากประเด็นในเล่ม

•ผู้เขียนเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประวัติศาสตร์ด้านอาหารมาอย่างถี่ถ้วน ภายในเล่มยังนำเสนอให้เห็นความสอดคล้องของอาหารที่มากมายทั้งก๋วยเตี๋ยว เนื้อ นม ไข่ น้ำตาล อาหารใต้ อาหารอีสาน และอาหารชาววัง ว่ารสชาติและอาหารการกินเหล่านี้มีนัยทางการเมืองและสัมพันธ์กับอำนาจนำอย่างไร

3.ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง จำนวน: 504 หน้า I ราคา 480 บาท ประเภท: ประวัติศาสตร์ I สเปค: ปกอ่อน ขาวดำทั้งเล่ม

เรื่องย่อ “ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร…”ถ้อยคำที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ “ราษฎร” ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยหลังการปฏิวัติ 2475 อันเป็นสิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เคยมีให้ได้ เหล่าราษฎรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยุคนั้นอยู่ในบรรยากาศแห่งเสรีภาพ นั่นทำให้พวกเขาและเธอมีจิตวิญญาณที่เสรี ตระหนักถึงความสำคัญต่อการมีอยู่ของประชาธิปไตย

“ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” ผลงานของณัฐพล ใจจริง พาผู้อ่านย้อนอดีตไปหาคนรุ่นใหม่ (ทางความคิด) ในยุคแรกสร้างประชาธิปไตยที่พวกเขาและเธอมีบทบาทส่งเสริมและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ผ่านการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

การอ่าน เขียน และเที่ยวในงานฉลองรัฐธรรมนูญ อันแฝงด้วยนัยสำคัญทางการเมือง เป็นบทบันทึกยุคสมัยคณะราษฎรในอีกรูปแบบที่จะทำให้หวนกลับมานึกถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ด้วยความหวังว่าเรื่องราวของสามัญชนผู้ไร้ชื่อเสียงเรียงนามในหน้าประวัติศาสตร์จะได้รับการจดจำเช่นเดียวกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญ

จุดเด่น

•เล่าเรื่องราวคนรุ่นใหม่ยุคคณะราษฎรโดยเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน

•ทำให้เห็นบทบาทสามัญชน-คนรุ่นใหม่อย่างแจ่มชัด

•นักเขียนเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน