‘หมอธีระ’ ย้ำโควิดไม่กระจอก ติดเชื้อแล้วหาย ป่วย-ตายได้ แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ห่วงสายพันธุ์ใหม่ระบาดแพร่มากกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า ชี้แมสก์สำคัญมาก

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.65 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 272,841 คน ตายเพิ่ม 479 คน รวมแล้วติดไป 548,924,518 คน เสียชีวิตรวม 6,350,753 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย, บราซิล และเม็กซิโก

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 68.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.68

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าจำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

เปรียบเทียบการระบาดของ Omicron แต่ละสายพันธุ์ กราฟจาก Financial Times แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า Omicron แต่ละสายพันธุ์ตั้งแต่ BA.1, BA.2 จนมาถึง BA.4 และ BA.5 นั้นส่งผลให้เกิดการระบาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าตัวใหม่จะเบากว่าตัวเก่า

หลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่นั้น มีสมรรถนะในการแพร่มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า เพราะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การระบาดในแต่ละประเทศจะหนักหนาสาหัสแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เห็นชัดเจนดังนี้ หนึ่ง “การฉีดวัคซีนและเงื่อนเวลาของการระบาด”
หากมีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมสูง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ก็จะมีอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตต่ำ

แต่หากฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อย หรือฉีดมานานไม่ได้รับเข็มกระตุ้น แล้วเกิดการระบาดปะทุขึ้นในช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรลดต่ำลง ก็จะพบอัตราป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

สอง “เสรีการใช้ชีวิตและพฤติกรรมป้องกันตัว” แม้จะฉีดวัคซีนไปมากน้อยเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเป็น Long COVID ได้

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ แพร่เชื้อ จนป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว หากประเทศนั้นๆ เปิดเสรีการใช้ชีวิต โดยคนในสังคมไม่ได้ระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดีพอ เช่น ไม่ใส่หน้ากากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เฮฮาปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง ฯลฯ ก็จะพบว่าการระบาดในระลอกหลังก็จะทำให้ติดเชื้อ และป่วยมากขึ้นกว่าเดิมได้ แม้จะมีอัตราฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงก็ตาม

นี่คือบทเรียนที่เห็นชัดเจนจากลักษณะการระบาดของประเทศทั่วโลก และกลับมาสะท้อนให้คนไทยเราต้องระมัดระวังตัวให้ดี เพราะสองปัจจัยข้างต้นคือตัวกำหนดชะตาการระบาดของเรา

สถานะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของเราในปัจจุบันนั้น มีประชากรได้เข็มกระตุ้น (เข็มสาม) ไปแล้วเพียง 42.4% นอกจากนี้หากดูกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่สูงอายุได้เข็มกระตุ้นไป 46.2% ในขณะที่เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี เพิ่งได้ครบสองเข็มไปเพียง 39.2%

ส่วนสภาพสังคมทุกวันนี้ เราย่อมเห็นชัดเจนว่าเปิดเสรีการใช้ชีวิต เพื่อให้ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากคล้ายในอดีต แต่ต้องเน้นย้ำว่าพฤติกรรมการป้องกันตัวนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง

สถานการณ์ระบาดช่วงนี้เพิ่มขึ้นมากหากสังเกตคนรอบตัวที่ติดเชื้อ โดยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ “การใส่หน้ากาก”เสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยง ย้ำอีกครั้งว่าจำเป็นมาก

นอกจากพบเคสเด็กที่ติดเชื้อจากสถานศึกษาแล้วนำมาแพร่แก่คนในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ และผู้สูงอายุแล้ว คนวัยทำงานก็ติดเชื้อกันมากขึ้น ทั้งจากที่ทำงาน รวมถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปร่วมงานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ

เมื่อคืนได้ทราบมาว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ไปงานปาร์ตี้เลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงาน ติดกันไปเป็นสิบคน รวมนักศึกษาด้วย ก็ถือเป็นบทเรียนที่นำมาย้ำเตือนให้ระมัดระวังกันให้ดี เพราะหากติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ก็จะนำมาแพร่ให้แก่เพื่อนร่วมงาน รวมถึงคนที่เราไปพบปะหรือดูแลได้จำนวนมาก

ขอนำสิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันเวลาต้องไปงานที่มีคนจำนวนมาก มาแชร์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

1.ประเมินดูว่างานนี้จำเป็นต้องไปหรือไม่

2.หากต้องไปหรืออยากไปมาก ก็วางแผนให้ดีว่าจะทำอะไรบ้าง โดยดูรายละเอียดของงานที่จะไป หากเป็นไปได้ก็เลือกงานที่มีคนน้อย และมีมาตรการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองก่อนเข้าร่วมงาน

3.จัดเวลาเผื่อ โดยไปกินอาหารมื้อนั้นให้เรียบร้อยที่บ้าน หรือที่ร้านโปร่งโล่งใกล้สถานที่ที่จัดงาน เพื่อจะได้เลี่ยงการกินดื่มที่ไม่จำเป็น ระหว่างเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมาก

4.ในงาน พบปะผู้คน พูดคุยทักทายได้ โดยใส่หน้ากากเสมอ พยายามเลี่ยงการสัมผัสตัวคนอื่น หากสัมผัสกันจับมือกันกอดกัน ก็ใส่หน้ากากและล้างมือทุกครั้ง

5.หากเป็นงานสัมมนายาวนานเป็นวัน ครอบคลุมการกินดื่มหลายมื้อ หากนำอาหารมาแยกกินได้ก็จะดี แต่หากกินดื่มรวมกัน ก็กินดื่มโดยใช้เวลาสั้นๆ ระหว่างกินดื่มจะไม่พูดคุย หากจะพูดคุยก็ใส่หน้ากากก่อนเสมอ ล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังจับอุปกรณ์หรือภาชนะต่างๆ ของสาธารณะ

6.หลังกลับจากงาน คอยสังเกตอาการของตนเองว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ และติดตามข่าวคราวจากกลุ่มผู้ไปร่วมงานด้วยว่ามีปัญหาการเจ็บป่วยไม่สบายหลังจากไปร่วมงานหรือไม่ จะได้จัดการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เหล่านี้คือสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ และทำได้หากคิดจะทำ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของตัวเราและการให้ความสำคัญ ณ จุดนี้ ความใส่ใจด้านสุขภาพ การป้องกันตัวเอง จะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของเราและคนใกล้ชิดเพื่อจะได้ปลอดภัยไปด้วยกัน

COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ที่สำคัญคือเรื่องภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน