อภัยภูเบศร จัดเวิร์กชอป กัญชา คึกคัก พร้อมย้ำ ใช้กัญชาให้ปลอดภัย ต้องใช้เพื่อการแพทย์ หลังปลดล็อกจากการเป็นสารเสพติดอย่างเป็นทางการ

หลังปลดล็อกกัญชาจากการเป็นสารเสพติดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้คนไทยตื่นตัวเรื่องการบริโภคกัญชา รวมถึงจดแจ้งการปลูกกัญชาผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ กันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลักสูตรอบรมระยะสั้น ‘4 โรคพื้นฐาน ใช้กัญชา รักษาได้ด้วยตนเอง’ โดย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ภายในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ งานแฟร์สุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ จัดโดยเครือมติชน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.00 น. มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเต็มความจุอย่างรวดเร็ว

อภัยภูเบศร จัดเวิร์กชอป กัญชา คึกคัก พร้อมย้ำ ใช้กัญชาให้ปลอดภัย ต้องใช้เพื่อการแพทย์

อภัยภูเบศร จัดเวิร์กชอป กัญชา คึกคัก พร้อมย้ำ ใช้กัญชาให้ปลอดภัย ต้องใช้เพื่อการแพทย์

ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เริ่มกิจกรรมด้วยการปูพื้นฐานถึงโทษ ภัย ข้อควรรู้ และข้อควรระวังที่จำเป็นเกี่ยวกับกัญชาว่า แม้พืชเศรษฐกิจนี้จะไม่ถือเป็นยาเสพติดแล้ว แต่วัตถุประสงค์หลักในการใช้ยังต้องเป็นการใช้เพื่อการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ใช้งานผิดประเภทจนต้องเข้าโรงพยาบาล และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รพ. ไม่สนับสนุนให้ใช้เพื่อสันทนาการ และห้ามใช้สารสกัดจากกัญชาที่มี THC เกิน 0.2% ซึ่งจะยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ

“เคยมีผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉิน เพราะบริโภคกัญชาเยอะเกินไป อาการหลักๆ ที่พบเจอว่าทำให้ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล คือ อาการหัวใจเต้นรัว เต้นผิดจังหวะ เพราะกัญชาไม่ต่างจากสุรา แต่ละคนคอแข็งคออ่อนไม่เท่ากัน บางคนจึงอาจได้รับผลกระทบง่ายกว่าผู้อื่น และในทางการแพทย์ ต้องรักษาตามอาการอย่างเดียว ยังไม่มีอะไรสามารถต้านพิษหรือล้างพิษของกัญชาได้ อาจต้องดื่มน้ำเยอะๆ ให้ปัสสาวะ ขับสารในร่างกายออกมา”

ภก.ณัฐดนัย ย้ำว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พยายามรณรงค์ว่า ถ้าผู้ประกอบการร้านค้าใส่กัญชาประกอบอาหาร ต้องแจ้งผู้บริโภคเสมอ หากทำก๋วยเตี๋ยวต้องแยกหม้อก๋วยเตี๋ยวกัญชากับก๋วยเตี๋ยวปกติออกจากกัน และต้องแจ้งส่วนประกอบให้เห็นเด่นชัดว่า ใช้กัญชาส่วนใดบ้าง เพื่อป้องกันผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน จากผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางสมอง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงอีก 9 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

  • 1.สตรีมีครรภ์ให้นมบุตร
  • 2.ผู้มีไข้สูง
  • 3.ผู้มีภาวะการทำงานของตับและไตบกพร่อง
  • 4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่คุมไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • 5.ผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง หรือผู้ติดเชื้อในระยะแพร่กระจาย
  • 6.ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช หรือมีอารมณ์แปรปรวน โรควิตกกังวล
  • 7.ผู้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด วาร์ฟาริน
  • 8.ผู้ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน และสุรา
  • 9.ผู้มีประวัติแพ้ยาในตำรับ

เภสัชกรชำนาญการ ยังเล่าถึงงานวิจัยของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ วิตกกังวล ปลอกประสาทอักเสบ และยังสามารถควบคุมอาการปวด ทำให้มักนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเสมอ ทว่ากัญชาไม่สามารถรักษามะเร็งได้

“กัญชาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งให้ดีขึ้น ลดความปวดเส้นประสาท บรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ แต่จากการทดลองวิจัยของโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยหลายโรคพบว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กัญชาสามารถรักษามะเร็งได้จริงๆ โดยไม่มีตัวแปรอื่นประกอบ”

หลังเสร็จสิ้นการบรรยายช่วงแรก พทป.ณิชนันท์ ปุ่มเพชร แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ บางเดชะ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รับช่วงต่อ นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมลองทำผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับใช้เอง 2 ชนิด ได้แก่ ขี้ผึ้งกัญชาสำหรับทาแผลภายนอก และ ชาชงใบกัญชา

ส่วนประกอบในการทำขี้ผึ้งกัญชา สำหรับทาแผลภายนอก มีดังต่อไปนี้

  • 1.วาสลีน 23 กรัม
  • 2.ขี้ผึ้ง 1.5 กรัม
  • 3.น้ำมันมะพร้าว 8 มิลลิกรัม
  • 4.ผงขมิ้นชัน 1 กรัม
  • 5.ผงกัญชา 2 กรัม

ส่วนวิธีทำ มีดังนี้

  • 1.นำผงขมิ้นและผงกัญชาใส่ในบีกเกอร์ เติมน้ำมันมะพร้าว ตั้งไฟอ่อนๆ 15-20 นาที จากนั้นนำมากรองด้วยกระดาษกรองกาแฟ หรือผ้าขาวบาง เพื่อเอาแต่น้ำมัน
  • 2.เติมวาสลีนและขี้ผึ้งลงไป แล้วนำไปตั้งไฟอ่อนๆ คนตลอดเวลา จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
  • 3.บรรจุใส่ภาชนะ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นประมาณ 30 นาที จากนั้นปิดฝาให้มิดชิด สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 1 ปี โดยใช้ทาบริเวณผิวแห้ง แตก คัน สะเก็ดเงิน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น รักษาผื่นคัน ลดอักเสบ ไม่เหมาะกับผื่นที่เป็นแผลเปิด มีน้ำเหลืองไหลซึม

อีกกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำ คือ ชาชงใบกัญชา เพื่อดื่มก่อนนอน มีคุณสมบัติช่วยให้นอนหลับสบาย มีวิธีทำง่ายๆ เพียงนำใบกัญชา 1-2 ใบ มาคั่วไฟอ่อนๆ 2-3 นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้ 5 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนนอนได้ อย่างไรก็ตาม หากดื่มเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันแล้วยังนอนไม่หลับ สามารถเพิ่มจำนวนใบกัญชาได้ครั้งละ 2 ใบ และใช้สูงสุดได้ 6 ใบต่อวัน

เรียกว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอป ‘4 โรคพื้นฐาน ใช้กัญชา รักษาได้ด้วยตนเอง’ โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ต่างเก็บความรู้และความประทับใจกลับไปอย่างเต็มอิ่ม!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน