อนุทิน-บก.ปคบ. แถลงจับ ยารักษาโควิดเถื่อน มูลค่า 10 ล้านบาท เอาผิดผู้ต้องหา 3 ราย แฉลักลอบนำเข้าจากอินเดีย สอดไส้นำเข้านมเนย

วันที่ 4 ส.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พล.ต.ท.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. แถลงจับกุมเครือข่ายยารักษาโควิด 19 เถื่อน

นายอนุทิน กล่าวว่า อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. สืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ พบมีการลักลอบนำเข้ายารักษาโควิด เช่น โมลนูพิราเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Nitric Oxide เป็นต้น โดยไม่รับอนุญาต ไม่ผ่านด่าน อย. ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา

อนุทิน-บก.ปคบ. แถลงจับ ยารักษาโควิดเถื่อน มูลค่า 10 ล้านบาท เอาผิดผู้ต้องหา 3 ราย แฉลักลอบนำเข้าจากอินเดีย

อนุทิน-บก.ปคบ. แถลงจับ ยารักษาโควิดเถื่อน มูลค่า 10 ล้านบาท เอาผิดผู้ต้องหา 3 ราย แฉลักลอบนำเข้าจากอินเดีย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ซึ่งครั้งนี้จับกุมเครือข่ายลักลอบขายยารักษาโควิด 3 ราย รวม 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ด มูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท โดยผู้ต้องหารู้จักกับคนอินเดียให้ช่วยซื้อให้และส่งมา ลักลอบนำเข้ามาในไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรไปรษณีย์ แจ้งวัฒนะ แต่มียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาทยอยนำเข้ามาด้วยตนเองด้วย โดยทำมาแล้ว 2 เดือน

“นี่คือการพิสูจน์ว่าไม่ควรซื้อยารักษาโควิดมากินเองทางออนไลน์ ยารักษาโควิดเป็นยาควบคุมพิเศษ ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ถึงปลอดภัย ยังไม่มีการขายทั่วไปในร้านขายยาหรือสถานพยาบาล เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลพิเศษ สปสช. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแจกจ่ายผู้ป่วยโควิดตามการวินิจฉัยของแพทย์ เรื่องโควิดต้องให้แพทย์รักษา กินยาตามแพทย์สั่ง หากซื้อยากินเองอาจได้ยาปลอม ไม่มีตัวยาสำคัญหรือไม่มีคุณภาพ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ยาที่จับเหล่านี้ไม่ทราบว่าเป็นยาจริงหรือปลอม แต่เป็นยาเถื่อน ไม่มีการขึ้นทะเบียน ก็จะนำไปทำลายต่อไป ไม่มีการนำไปบริจาคหรือนำไปใช้ต่อ เตือนว่าอย่าพยายามสร้างความเชื่อว่า ประชาชนที่รักษาโควิด แพทย์ไม่สั่งจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ จึงควรไปซื้อเองเก็บไว้ ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งการปฏิบัติและทางกฎหมาย และอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพตนเอง

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า การรับยารักษาโควิดขอให้เชื่อในดุลยพินิจแพทย์ ไม่ควรวินิจฉัยโรคเองแล้วซื้อยามารับประทานเอง ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อต้องรับประทานยาต้านไวรัสทุกคน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเพราะไม่มีอาการ แพทย์จึงไม่ได้จ่ายยาต้านไวรัส แต่อาจจ่ายยารักษาตามอาการ เป็นขั้นตอนตามปกติ ขอให้เชื่อแพทย์ ความปลอดภัยจะเกิด อย่าไปเสี่ยงอันตรายกับการไปซื้อยาเถื่อนที่ไม่ได้รับการรับรอง

 

“ยิ่งยาเรมเดซิเวียร์ที่เป็นยาฉีดก็ยิ่งอันตราย อย่างที่จับก็มีลักษณะเป็นผงไม่รู้ผงทำมาจากอะไร โดยยาทั้งหมดที่จับจะไม่มีการเอาไปใช้ แต่จะเอาไปทำลาย เพราะเป็นยาเถื่อน นอกจากนี้ นายกฯ ก็ห่วงกำชับอย่าให้มีการขายยาเถื่อนเด็ดขาด ประชาชนอาจตื่นตระหนกมีผลเสียอื่นตามมา อย. และ สตช. ก็สืบสวนสอบสวนล่อซื้อจนทราบถึงแหล่งที่มาแห่งนี้ว่าอยู่ที่ไหน” รมว.สธ. กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับการเอาผิดนั้น เราเน้นผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อ และขอเตือนประชาชนว่า ยารักษาโควิดไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่จะซื้อเก็บไว้ในบ้าน ซึ่งยาแต่ละชนิดมีวิธีเก็บรักษา มีหมดอายุ ยาต่างๆ นอกเหนือจากยาสามัญฯ ควรได้รับการสั่งจากแพทย์จะปลอดภัยที่สุด

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า บก.ปคบ.สืบสวนและล่อซื้อหลายครั้งจนได้ของกลาง เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนจึงเข้าตรวจค้น จุดแรก คือ บ้านย่านวังทองหลาง พบ น.ส.ฉลวยรัตน์ ก็ยอมรับว่าเป็นเจ้าของของกลาง พอสืบสวนขยายผล ก็ออกหมายจับอีก 2 ราย รายแรกคือ นายประเสริฐ หรือ บัง เป็นแหล่งกักเก็บของ บุกตรวจค้นที่บ้านย่านตลิ่งชัน ซึ่งยาที่พบรับมาจากคู่ค้าทางอินเดีย ซึ่งปกตินายประเสริฐซื้อขายนมเนยผ่านอินเดียอยู่แล้ว ใช้ลักษณะนี้ขนสินค้าเข้ามาในไทย

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อว่า อีกรายคือ น.ส.ขนิษฐา เป็นผู้ค้ารายย่อยทางเฟซบุ๊ก เมื่อมีผู้ติดต่อซื้อก็วิ่งไปเอาสินค้าจาก น.ส.ฉลวยรัตน์ แถววังทองหลาง ถือว่าเราจับทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือว่าครบกระบวนการ ส่วนคนอินเดียที่ร่วมกระบวนการคือใครจะขยายผลต่อ แต่ตรงนี้เป็นเพียงแค่แก๊งเดียว

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวอีกว่า จึงอยากเตือนประชาชน ยากลุ่มนี้รักษาเฉพาะด้านต้องให้แพทย์สั่ง แม้จะเป็นผู้ค้ารายย่อย หรือนายหน้าขายเฟซบุ๊ก แม้ไม่มีของกลางในมือก็ผิดกฎหมาย ใครมีเบาะแสขอให้ช่วยสอดส่อง สามารถแจ้งมาได้สายด่วน 1135 ปคบ. และเพจปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคจะเข้าไปตรวจสอบ

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.จัดหายารักษาโควิด 4 รายการ คือ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ซึ่งมีข้อบ่งใช้และข้อกำหนดต่าง ๆ โดยยาที่ สธ.จัดหาได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และปลอดภัย เรามีการกระจายยาใหทุกจังหวัดสำรอง และอีกส่วนอยู่ที่ส่วนกลาง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. เราจัดสรรยาให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยจัดสรรฟาวิพิราเวียร์แล้ว 265.5 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ 375,210 ไวอัล ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์อยู่ในพื้นที่ 11 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 7.8 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอการใช้ 14 วัน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ซึ่งเราจะเติมยาต่อเนื่องเมื่อมีการใช้ด้วยระบบ VMI เพื่อให้ยาในพื้นที่มีสำรองสำหรับการใช้ 14 วันอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรมเดซิเวียร์เหลืออยู่ในพื้นที่ 35,000 ไวอัล ใช้เพียงพอ 12 วัน ส่วนกลางยังมีสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ 2.8 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 7 พันไวอัล โดยอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นไวอัล

“การติดเชื้อโควิดต้องดูแลรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสทุกคน ซึ่งยารักษาโควิดไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาต้านไวรัสมีฤทธิ์และมีระยะเวลาหมดอายุ การให้ยาเหมือนยาปฏิชีวนะ ก็ไม่ควรกินเล่นหรือเก็บไว้ เพราะอาจมีเสื่อมสภาพ ต้องให้ตามแพทย์สั่ง ซึ่งซื้อมาเก็บไว้ไม่เป็นผลดี และรัฐบาลจัดหาให้ยาพอเพียง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 คือ มาตรา 12 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 7(4) ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อถามถึงกรณีหิ้วยาจากประเทศเพื่อนบ้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า กรณีนี้การนำยาเข้ามาต้องมีผู้รับอนุญาต เพราะมาขึ้นทะเบียนต้องรับผิดชอบข้อมูล ผลข้างเคียงต่างๆ การหิ้วนำยาเข้ามาจะมีการตรวจสอบในส่วนนี้ และการบอกเอามาจากชายแดนเอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายามีคุณภาพและปลอดภัย แต่กรณีเป็นยาเถื่อนไม่ได้ขึ้นทะเบียน การหิ้วเข้ามามีการตรวจโดยด่านต่าง ๆ ทั้งด่านศุลกากร ด่าน อย. หรือพัสดุต่าง ๆ ก็จะมีการตรวจสอบ เอกซเรย์ดูอะไรที่ต้องสงสัย

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า สำคัญสุดคือประชาชนต้องมีความรู้ไม่ควรซื้อมา เพราะการรักษาต้องใช้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา ซึ่งยาโควิดมีการขึ้นทะเบียนแล้วเพียงพอ โดยฟาวิพิราเวียร์มี 3 ทะเบียน มีผลิตในประเทศด้วย ยาโมลนูพิราเวียร์ 3 ทะเบียน และเรมเดซิเวียร์ 5 ทะเบียน ส่วนการโพสต์เชิญชวนให้ซื้อนั้น ต้องดูข้อเท็จจริงว่าการโพสต์นั้นเป็นการขายหรือโฆษณาขายหรือไม่ หรือชวนให้ซื้อหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน