ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ 2 บริษัท ‘กำนันนก’ เข้าข่ายฮั้วประมูล 19 โครงการสร้างถนน เอี่ยว 3 หน่วยงาน มูลค่าเกิน 30 ล้านบาท ขยายผลขบวนการนำข้อมูลออกมาขาย
จากกรณี กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนบริษัทของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ในฐานะกรรมการบริษัท รับโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ที่มีมูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ของ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (18 โครงการ) และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (2 โครงการ) รวมทั้งหมด 20 โครงการ
ที่มีเหตุอันควรสงสัยจะมีการทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส พร้อมได้ออกหมายเรียก 58 บริษัท ที่เคยยื่นซื้อซองราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของ กำนันนก หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่นั้น มาสอบปากคำ วันที่ 18-20 ก.ย.นี้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเตรียมรับเป็นคดีพิเศษ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอส มีคำสั่งรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 82/2566 ให้ทำการสอบสวนการกระทำที่มีพฤติการณ์ที่ควรสงสัย รวม 19 โครงการ อีก 1 โครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์ และอยู่ในความรับผิดของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย
กรมทางหลวง 8 โครงการ , กรมทางหลวงชนบท 4 โครงการ และ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 7 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 1,326,244,000 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 1,210,778,289 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม (e-auction) 12 โครงการ ตั้งแต่ปี 2554-59 และการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ (e-bidding) 7 โครงการ หลังปี 2559-ปัจจุบัน ซึ่งการฮั้วประมูลแบบ (e-auction) จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าแบบ (e-bidding) เพราะการเสนอราคามีตลาดกลางทำให้บริษัทมีโอกาสเจอกันพร้อมต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เบื้องต้น ดีเอสไอจะดำเนินการเอาผิดกับ 2 บริษัท กำนันนก ในคดีฮั้วประมูลเป็นหลัก และนโยบายของผู้บริหารให้สอบสวนต่อเนื่องให้สืบสวนขยายผลเพื่อหาผู้ร่วมขบวนการที่สำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหรือคนทำระบบ ที่เป็นผู้นำข้อมูลจากกรมบัญชีกลางมาขายข้อมูลและรายชื่อให้กับผู้จัดฮั้วในพื้นที่ต่างๆ วิธีการรูปแบบต่างๆ อาทิ การขายข้อมูลผู้เข้ารับเอกสารหรือผู้ซื้อซอง การขายข้อมูลแบบออนไลน์ เพื่อหาตัวการที่แท้จริงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใดหรือหน่วยงานใดบ้าง รวมทั้ง 58 บริษัท ที่เคยยื่นซื้อซองแต่ไม่เข้าร่วมประกวดราคาหากพบเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องก็ต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นกัน
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 กรมบัญชีกลาง ได้มีแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยระบบ (e-bidding) ป้องกันการรั่วไหลข้อมูลไปยังบุคคลภายนอก โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จัดเก็บข้อมูล ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้หากยังไม่ถึงเวลาที่กำหนด , ยกเลิกขั้นตอนการซื้อเอกสารประกวดราคาฯ ก่อนการเสนอราคา และ ลดระยะเวลาการเสนอราคา จากเดิม 8 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง
โดยให้หน่วยงานของรัฐ กำหนดช่วงเวลาเสนอราคา ซึ่งมี 2 ช่วง คือ 09.00 – 12.00 น. หรือ 13.00 – 16.00 น. และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.66 หากบุคคลใดเข้าระบบข้อมูลจะมีชื่อปรากฎทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการตรวจสอบทั้ง 20 โครงการ มูลค่าเกิน 30 ล้านบาท ของ 2 บริษัทดังกล่าว ที่เข้าข่ายอำนาจของดีเอสไอ ดังนี้ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (18 บริษัท) 1.ปี 2565 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างปรับปรุงถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายหมู่ที่ 12,9,14 ต.บางปลา เชื่อมต่อ ต.ลำพญา, ต.คลองนกกระทุง อ.บางเลน จ.นครปฐม งบประมาณ 30 ล้านบาท หน่วยงาน องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) นครปฐม
2.ปี 2564 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน ปีงบประมาณ 2565 รหัสงาน 12100 กิจกรรมก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 346 ตอนควบคุม 0302 ตอน ลำลูกบัว – หนองกระทุ่ม ระหว่าง กม.75+106 – กม.77+330 ปริมาณงาน 1 แห่ง งบประมาณ 30 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
3.ปี 2564 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 งบประมาณ 350 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
4.ปี 2563 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต สาย นฐ.3004 แยกทางหลวงหมายเลข 346 – บ้านศาลายา อ.บางเลน,พุทธมณฑล จ.นครปฐม ระยะทาง 3.500 กิโลเมตร งบประมาณ 48 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวงชนบท
5.ปี 2560 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว งบประมาณ 300 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
6.ปี 2560 โครงการประกวดราคาจ้างงานซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In – Place Recycling) สายดอนเสาเกียด – บ้านดอนคา (อ.บางแพ) จ.นครปฐม ระยะทาง 5.690 กิโลเมตร งบประมาณ 37 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวงชนบท
7.ปี 2558 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ปี 2558 กิจกรรมบูรณะทางหลวงสายหลัก จ้างเหมาทำการบูรณะทางหลวงสายหลัก โดยการปรับปรุงผิวทางและพื้นทางเดิมด้วยวิธี PAVEMENT IN – PLACE RECYCLING ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนควบคุม 0202 ตอน พระประโทน – สระกระเทียม ตอน 2 ระหว่าง กม.61+767 – กม.67+334 RT. ปริมาณงาน 5.567 กม. งบประมาณ 47 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
8.ปี 2557 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายเลาเต่า- ห้วยพระ หมู่ที่ 1, 2, 5, 6, 7 ต.ห้วยพระ เชื่อมต่อ ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม งบประมาณ 34 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม
9.ปี 2557 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ปี 2557 ทางหลวงหมายเลข 375 ตอนควบคุม 0102 ตอน นครปฐม – ดอนตูม ระหว่าง กม.57+408 – กม.59+300 ปริมาณงาน 1.892 กม. งบประมาณ 50 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
10.ปี 2557 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมสร้างผิวลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายเลียบคลองบางเลน หมู่ที่ 3, 6 ต.ไผ่หูช้าง หมู่ที่ 1 ต.บางไทรป่า อ.บางเลน เชื่อมต่อ ถนน อบจ.นฐ.0018 บ้านไผ่คอกวัว-บ้านไผ่หูช้าง ต.บางเลน ต.ไผ่หูช้าง อ.บางเลน จ.นครปฐม งบประมาณ 34 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม
11.ปี 2557 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมสร้างผิวลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ถนน อบจ.นฐ. 0038 บ้านดอนกลาง-บ้านกงลาด ต.มาบแค ต.ตาก้อง ต.ห้วยด้วน อ.เมืองนครปฐม อ.ดอนตูมฯ งบประมาณ 38 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม
12.ปี 2556 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมสร้างผิวลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ถนน อบจ.นฐ.0042 บ้านลานแหลม-บ้านโคกเขมา ต.วัดละมุด ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม งบประมาณ 38 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม
13.ปี 2556 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการบูรณะทางหลวงสายหลัก ปี 2556 ทางหลวงหมายเลข 346 ตอนควบคุม 0500 ตอน กม.42+000 (ต่อเขต สน.บท.นนทบุรี) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 321 (กำแพงแสน) ระหว่าง กม.54+483 – กม.57+483 ปริมาณงาน 3.000 กม. งบประมาณ 30 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวง
14.ปี 2555 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ปี 2555 ทางหลวงหมายเลข 3297 ตอนควบคุม 0100 ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 321 (หนองปลาไหล) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3036 (วัดสามง่าม) งบประมาณ 40 ล้านบาท หน่วยงาน สำนักทางหลวงที่ 13 กรมทางหลวง เพชรบุรี
15.ปี 2555 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการบูรณะทางหลวงสายหลัก ปี 2555 งบประมาณ 33 ล้านบาท หน่วยงาน สำนักทางหลวงที่ 13 กรมทางหลวง เพชรบุรี
16.ปี 2555 โครงการประกวดราคาจ้างโครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย งานซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In – Place Recycling) ถนนสาย นฐ.3004 จ.นครปฐม งบประมาณ 45 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวงชนบท
17.ปี 2554 โครงการประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมสร้างผิวจราจรลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ถนน อบจ นฐ 0037 งบประมาณ 39 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม
18.ปี 2554 โครงการประกวดราคาจ้างงานโครงการบูรณะทางหลวงสายหลัก ปี 2554 โดยจ้างเหมาทำการบูรณะผิวทาง พื้นทาง และไหล่ทางเดิม ด้วยวิธี PAVEMENT IN – PLACE RECYCLING ลึกเฉลี่ย 0.20 ม. ปูผิวทางด้วย ASPHALT CONCRETE บนทางหลวงหมายเลข 346 งบประมาณ 50 ล้านบาท หน่วยงาน สำนักทางหลวงที่ 13 กรมทางหลวง เพชรบุรี
ส่วนบริษัท ป.รวีกนกก่อสร้าง จำกัด (2 บริษัท) 1.ปี 2565 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างกิจกรรม ซ่อมสร้างถนนลาดยาวแอสฟัลติกคอนกรีต สาย นฐ. 3004 แยก ทางหลวงหมายเลข 346 – บ้านศาลายา อ.บางเลน, พุทธมณฑล จ.นครปฐม ระยะทาง 3.600 กิโลเมตร งบประมาณ 45 ล้านบาท หน่วยงาน กรมทางหลวงชนบท
2.ปี 2565 โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างปรับปรุงถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายหมู่ที่ 12 ต.สามง่าม เชื่อมต่อ หมู่ที่ 1,4,5 ต.ลำลูกบัว อ.ดอนตูม , ต.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม งบประมาณ 33 ล้านบาท หน่วยงาน อบจ.นครปฐม