โฆษกอัยการ ให้ความรู้ กม. เคส คดี ‘เด็ก 14’ เหตุยิงที่พารากอน กฎหมายระบุชัดต้องรอแพทย์รักษาจนเด็กหายเท่านั้นถึงจะดำเนินคดีได้ ชี้ ครบกำหนดคุมตัว แต่แพทย์สามารถรับไปบำบัดต่อจนกว่าเด็กสู้คดีได้
จากกรณีที่นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีและคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีเด็กชาย 14 ปี แล้วปรากฏรายงานการประเมินผลวินิจฉัยและตรวจรักษาในสำนวนการสอบสวนของคณะแพทย์
ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรักษาเด็กชาย พ.ยังมีอาการป่วยและ ยังเป็นคนไข้ในของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ส่งคืนสำนวน กลับไปให้พนักงานสอบสวนเพราะการสอบสวนในขณะที่เด็กชาย พ. ยังป่วยอยู่จึงเป็นการสอบสวนที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อพนักงานอัยการคืนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไม่สามารถสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานได้
จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้ เพราะต้องทำตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ว่าพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไว้ก่อน จนกว่าที่ ผู้ต้องหาจะหายจากอาการป่วย และต่อสู้คดีได้ โดยจะต้องรอ การประเมินการตรวจรักษาของแพทย์เท่านั้น
ดังนั้นในวันนี้ (31.ธ.ค.) เมื่อครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่4 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมของสถานพินิจฯ ซึ่งคณะแพทย์และกลุ่มสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์สามารถประสานผู้ปกครองเด็กเพื่อรับตัวไปบำบัดรักษา หรือ อาจบังคับใช้กฎหมาย ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 และ 36 ได้
โดยสามารถรับผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเด็กและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กและสังคม จากนั้นทางแพทย์จะมีการส่งผลประเมินให้กับพนักงานสอบสวน ทราบทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติแต่ถ้าเด็กหายป่วยก่อนกำหนด 180 ก็สามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบได้ทันทีเพื่อจะหยิบยกคดีขึ้นทำการสอบสวนต่อไป โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ต.ค. 2586