จากกรณีโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในหลายพื้นที่ มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วหลายราย เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ว่า สถานการณ์ของโรคในปัจจุบันไม่รุนแรงเท่าปี 2559 และ 2560 ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นจำนวนมากขณะนี้ เป็นผลจากที่กรมปศุสัตว์เร่งรัดสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างจริงจัง

เจตนารมณ์กฎหมายไม่ให้เกิดโรคระบาด หากเกิดโรคต้องทำให้สงบอย่างรวดเร็ว ไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยประกาศเขตโรคระบาดรัศมี 5 กิโลเมตร ให้สำรวจสุนัข-แมว ในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สั่งกักสัตว์ที่มีเจ้าของ ห้ามออกนอกบริเวณบ้าน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากพบสัตว์เป็นโรค หรือสัตว์สัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโรค เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการทำลายสัตว์นั้นทันที

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–12 มีนาคม 2561 มีจังหวัดประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราว 37 จังหวัด ขณะนี้คงเหลือ 26 จังหวัด บางจังหวัดมี 1 จุด บางจังหวัดมี 2-3 จุด (1 จุดมีรัศมี 5 กิโลเมตร) โดยจังหวัดที่มีประกาศ 1 จุด มี 8 จังหวัด จังหวัดที่มีประกาศ 2 จุด มี 11 จังหวัด ประกาศ 3 จุด มี 3 จังหวัด และที่มีประกาศมากกว่า 3 จุด มี 4 จังหวัด ซึ่งประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวมีอายุ 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศ โดยจะต้องไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในปีนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตั้งงบประมาณ 311 ล้านบาท เป็นค่าวัคซีน พร้อมอุปกรณ์ และงบประมาณ 60 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการสำรวจสัตว์สุนัข-แมว ปีละ 2 ครั้ง ส่วนกรมปศุสัตว์จัดซื้อวัคซีน 1 ล้านโด๊ส เพื่อนำไปใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรคและจุดเสี่ยง และที่สำคัญ ประชาชนหรือเจ้าของสัตว์เลี้ยง ามารถพาสุนัขและแมวไปที่สถานพยาบาลสัตว์ได้ ทั้งประเทศมี 2,300 แห่ง และสามารถฉีดวัคซีนได้ 700,000 ตัว/ปี

ด้านนายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องพิษสุนัขบ้ากำลังระบาดเป็นเรื่องใหญ่ ควรเป็นวาระแห่งชาติช่วยกันดูแล เพราะงบประมาณที่รัฐบาลจะลงไปฉีดวัคซีนให้เชื่อว่าไม่พอเพียง อาทิ กรุงเทพฯ มีหมาทั่วไปที่มีเจ้าของ และหมาจรจัด รวมประมาณ 1 ล้านตัว มีงบประมาณ 4 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีน ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการฉีดหมาจรจัดประมาณ 2 แสนตัวเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 8 แสนกว่าตัวนั้น งบประมาณไม่เพียงพอ

ดังนั้น ต้องอาศัยพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ ให้เจ้าของหมาหรือแมว นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เจ้าของต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หากปล่อยปละละเลยจะมีความผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน