เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2559 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมเจ้าท่า สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองเรือลำน้ำ กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม

14201929781420258137l

พล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า กทม.ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ในการขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในพื้นที่เขตกทม. โดยห้ามไม่ให้จุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน หากฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

loikrathong-5

นอกจากนี้ ห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม ประทัดรูปไข่ ประทัดรูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ผลิตสะสมและจำหน่ายดอกไม้เพลิง จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการประกาศกรมอนามัย เรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมป้องกันอันตรายจากการผลิต การสะสม การขนส่ง และการจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่กำหนดเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันกทม.ได้กำหนดแผนป้องกันอันตรายจากดอกไม้เพลิง และการเล่นโคมลอยไว้แล้ว โดยได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตรวจสอบ ตรวจตราสถานประกอบการผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงวันลอยกระทง เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน

ทั้งนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืน จุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศจนทำให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหาย จนเป็นเหตุให้อากาศยานนั้นไม่สามารถทำการบินได้ หรือเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558

พล.ต.ท.อำนวย กล่าวต่อว่า ในวันที่ 11 พ.ย. นี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเทียบเรือและโป๊ะ ถ้าท่าเทียบเรือและโป๊ะใดใช้การไม่ได้จะสั่งปิดทันที เพื่อให้อยู่ในสภาพดี มั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่มาลอยกระทง อย่างไรก็ตาม สำนักการโยธา กทม. ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงของท่าเทียบเรือและโป๊ะ ในเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 436 ท่า โดยเป็นท่าในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 253 ท่า และท่าในคูคลองต่างๆ จำนวน 183 ท่า เป็นท่าที่สามารถใช้งานได้ 366 ท่า และอีก 70 ท่าต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง

นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กำหนดเปิดสวนสาธารณะ 30 แห่ง เพื่อให้ประชาชนพาครอบครัวเข้าไปลอยกระทง ได้แก่ 1.สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 2.สวนจตุจักร เขตจตุจัก 3.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร 4.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง 5.สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง 6.สวนสราญรมย์ เขตพระนคร 7.สวนรมณีนาถ เขตพระนคร 8.สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร 9.สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ 10.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม

11.สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่ม 12.สวนหนองจอก เขตหนองจอก 13.อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 14.สวนเบญจกิตติ เขตคลองเตย 15.สวนน้ำบึงกระเทียม เขตมีนบุรี 16.สวนวารีภิรมย์ เขตมีนบุรี 17.สวนราษฎร์ภิรมย์ เขตมีนบุรี 18.สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (ฝั่งพระนคร) เขตบางคอแหลม 19.สวนสันติภาพ เขตราชเทวี 20.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน

21.สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง 22.สวน 50 พรรษา มหาจักรีสิรินธร เขตประเวศ 23.สวนวนธรรม เขตประเวศ 24.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 25.สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด 26.สวนสาธารณะบึงน้ำลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว 27.สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ เขตบางกอกน้อย 28.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตบางกอกน้อย 29.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตสาทร และ 30.สวนพระยาภิรมย์ เขตคลองสามวา ส่วนสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนหลวง ร.9 ไม่เปิดให้ประชาชนไปลอยกระทง

นอกจากนี้ ทั้ง 30 สวน จะไม่มีการจัดประกวดนางนพมาศ รวมถึงการแสดงกิจกรรมบันเทิงหรือมหรสพต่างๆ โดยจะจัดให้มีเฉพาะการลอยกระทงตามประเพณีเท่านั้น พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือภาคเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดงานลอยกระทงในการจัดงานให้มีความเหมาะสม เนื่องจากประชาชนชาวไทยยังอยู่ในช่วงการแสดงความอาลัย

อย่างไรก็ตาม กทม.ขอความร่วมมือประชาชนลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย ใบตอง เพื่อลดปริมาณขยะโฟม เพราะโฟมเพียง 1 ชิ้น ใช้เวลานานกว่า 300 ปีในการย่อยสลาย อีกทั้งในกระบวนการผลิตหรือรีไซเคิลโฟมแต่ละชิ้น ต้องใช้พลังงานสูง

ดังนั้น การลดการใช้กระทงโฟมจึงเป็นหนทาง ในการลดขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยยับยั้ง การเกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนั้น ห้ามจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ตลอดจนห้ามขายกระทง สินค้า อาหาร และอื่นๆ ภายในสวนสาธารณะโดยเด็ดขาด ในส่วนของการจัดเก็บกระทง สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้ออกมาตรการจัดเก็บกระทงตามแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองและบึงภายในสวนสาธารณะต่างๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการระดมเจ้าหน้าที่จัดเก็บ และจำแนกประเภทกระทงให้เสร็จในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยจะรายงานผลการจัดเก็บผ่านเว็บไซต์ www.bangkok.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน