วิษณุ แถลงผลสอบ 2 บิ๊กตำรวจ เตรียมออกคำสั่งสำนักนายกฯ ส่งตัว บิ๊กต่อ กลับตำแหน่งผบ.ตร. ส่วนบิ๊กโจ๊ก รอคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมสอบก่อน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มิ.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. ซึ่งมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ว่า ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้แถลงผลสอบของคณะกรรมการฯ
โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในตร. ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจและไม่พอใจต่อสภาพที่เกิดขึ้น นายกฯ จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งคือกรรมการดังกล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ ประมวลเรื่องว่าเป็นมาอย่างไร เพื่อแก้ไขในอนาคต โดยมีนายฉัตรชัย เป็นประธาน
กรรมการชุดนี้ตั้งอนุกรรมการหลายชุด สอบพยาน 4 เดือน 50 กว่าคน ในจำนวนนั้นสอบสวนคู่กรณีคือพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก่อนสรุปได้ว่า
1.ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งในตร.จริง มีความขัดแย้งระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดเหตุเดียวกันหรือคนละเหตุ จึงเกิดเป็นคดีต่างๆ มีการฟ้องร้องในตร.
2.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กับบุคคล 2 คนคือพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แต่ละคนมีทีมงาน ซึ่งเกิดความขัดแย้งด้วย คดีสำคัญเกี่ยวพันกับบบุคคลเหล่านี้ เช่น คดี 140 ล้าน คดีกำนันนก คดีมินนี่ คพีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และมีคดีย่อยๆ คดีอยู่ในศาลภาค 7 ความขัดแย้งบางเรื่องเป็นเรื่องเพิ่มเติม บางเรื่องขัดแย้งมาเป็นสิบปีแล้ว
3.ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้ตำรวจ อัยการ ศาลว่ากันไปตามปกติ
4.บางเรื่องเกี่ยวพันนอกกระบวนการยุติธรรม เช่น ป.ป.ช. ซึ่งรับไปดำเนินการหมดแล้ว ไม่มีคดีตกค้างในตร.อีก
5.ตัวพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับ ตร. เมื่อ 18 เม.ย. เดิมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ทั้งสองถูกคำสั่งสำนักนายกฯ มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ แต่วันที่ 18 เม.ย. ได้ส่งตัวพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับไปตร. ในตำแหน่งหน้าที่เดิม แต่ในวันนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ส่วนกรณีพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ว่ายังไม่ได้กลับไป จึงสมควรส่งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปทำหน้าที่เดิมในตำแหน่งผบ.ตร. เพราะไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว ส่วนคดีจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามสายงาน เช่น ป.ป.ช. หรือศาล ส่วนจะตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่เป็นเรื่องของตร.จะดำเนินการให้เสร็จ
6.พบความยุ่งยากสับสนของการสอบสวน จากการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ได้รายงานนายกฯ ว่าพบเห็นความยุ่งยากสับสนจากหน่วยงานหลายหน่วย ว่าจะเป็นของตำรวจ ป.ป.ช., ปปง. ปปท.หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจในเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก จะอยู่ในอำนาจดดำเนินการของใคร เพราะถ้าเรื่องไปถึงศาล ศาลก็อาจจะยกฟ้องได้ ดังนั้นควรจะดำเนินการให้เพื่อเป็นคู่มือให้ผู้เกี่ยวข้องได้เก็บไว้ว่าทุกหน่วยคิดเห็นตรงกัน มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องโยนกันไปมาว่าเป็นอำนาจตำรวจสอบสวนหรือป.ป.ช.เป็นคนสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯได้รับทราบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปคือ คณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรม ที่มีคณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมที่จะไปตรวจสอบเรื่องของเขตอำนาจในกรณีที่เขตอำนาจศาลต่างกันจะมีกรรมการชี้ขาดอย่างไรในคดีปกครอง แต่ในคดีอาญาในชั้นสอบสวนไม่มีคนชี้ขาด
ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงต้องดำเนินการฟ้องและออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งตัวพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมและดำเนินการอย่างอื่นเป็นเรื่องที่ ตร.และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น เรื่องการสอบวินัย หรือจะต้องสอบบุคคลบุคคลอื่นเพิ่มเติม
นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีผลการสอบพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นแบบที่เคยสั่งมาในอดีตตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2505 แต่พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ 2565 ได้เพิ่มไว้หนึ่งมาตราว่า ในกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนและไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจะต้องทำโดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะโดยคณะกรรมการสอบสวน
แต่เรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีการออกคำสั่งซ้ำคำสั่งติดต่อกัน คือคำสั่งเรียกพล.ต.อ.สุรเชษฐ กลับสตช.และตามด้วยคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที
จึงเป็นปัญหาและได้ส่งเรื่องนี้ไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาและมีมติต่อ 10 ต่อ 0 เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ เช่น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องทำโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ได้ผ่านคณะกรรมการ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้องและชอบธรรม จึงเห็นควรให้แก้ไขให้ถูกต้อง จึงเป็นอำนาจของ ตร.จะดำเนินการ
ดังนั้นสถานภาพของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลฯให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเรื่องไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
นายกฯ ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองในทางราชการ ส่วนตัวใครจะทำผิดให้ว่าไปตาม กฎหมาย แต่ให้ทำงานเพื่อให้บังเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและกระทบภาพลักษณ์ตำรวจ และเชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ จะเบาบางลง เพราะตลอดเวลา 4 เดือน ทั้งสองฝ่ายได้พบปะพูดจาและกรรมการได้เข้าไปไกล่เกลี่ยในบางเรื่อง แต่ไม่ใช่การซูเอี๋ย หรือเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะมีคดีปักหลังกันทุกคน แต่ให้ทำงานร่วมกันต่อจากนี้
ไม่เช่นนั้น ตร.จะไม่มีหัว มีแค่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รักษาราชการแทนผบ.ตร. ที่ทำงานไม่ไหว จำเป็นต้องมีคนเข้าไปช่วยตามนโยบายที่ต้องการแก้ไขใน 3 ประเด็นที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ เรื่องยาเสพติดหวย พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ รายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ผูกพันกับหน่วยงานใดแต่เป็นข้อมูลที่จะแจ้งและยินดีที่จะส่งข้อมูลไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ รวมทั้งป.ป.ช. ทั้งนี้ รายงานสามารถใช้ในการต่อสู้คดีหรือการสั่งฟ้องคดี เพราะมีการสอบพยานจำนวนหลายหลายคน มีการบันทึกเก็บไว้จำนวนมาก โดยรายงานการตรวจสอบจะเก็บไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี และให้หน่วยงานมาขอรับไปดูได้