ศาลอาญารับฝากขัง ’ดาว‘พี่สาวเมียทนายตั้ม สมคบฟอกเงินฉ้อโกง พี่อ้อย 39 ล้านบาท ด้านกองปราบค้านประกัน ผู้เสียหายก็ค้านหวั่นปล่อยไปไม่ได้เงินคืน
วันที่ 27 พ.ย.2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ควบคุมตัว น.ส.ปิณฑิรา หรือดาว การวัลย์ อายุ 43 ปี พี่สาวภรรยาทนายตั้ม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในความผิดฐาน “ร่วมกันกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน” มายื่นคำร้องฝากขังครั้งเเรกต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน
พฤติการณ์แห่งคดีคือ ก่อนเกิดเหตุ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ ผู้เสียหาย ได้ว่าจ้าง นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมานายษิทราได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อส่งมอบเงินให้กับนายษิทรา หลายเรื่องหลายครั้งต่างกรรมต่าง วาระกัน ดังนี้
1.ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายษิทรา ได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ลงทุนขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทางออนไลน์ แต่อ้างว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเขียนโปรแกรมและระบบก่อน เป็นเงินจำนวนระหว่าง 2 ล้านยูโร พร้อมกับได้นำสัญญาว่าจ้างมาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของนายษิทรา จำนวน 71,067,764 บาท
2.ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายได้มอบหมายให้นายษิทราหาซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์
รุ่นจี 400 จากนั้นนายษิทราได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสามารถหาซื้อรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นดังกล่าวได้แล้วจากบริษัท 999อิมพอร์ต จำกัด ในราคา 12,900,000บาท และมีค่าติดฟิล์มรถยนต์ จำนวน 30,000บาท
ทั้งที่ความจริงแล้ว รถยนต์คันดังกล่าวมีราคาเพียง 11,400,000 บาท โดยไม่มีราคาติดฟิล์ม ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินชำระค่ารถยนต์คันดังกล่าว ไปเข้าบัญชีเงินธนาคารของนายษิทรา ทำให้นายษิทรา ได้ไปซึ่งเงินค่าส่วนต่างราคารถยนต์ และค่าฟิล์มรถยนต์ รวมเป็นเงินจำนวน 1,530,000 บาท
3.ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายษิทรา ได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า นายษิทรา ได้ติดต่อว่าจ้างบริษัท ปีเตอร์ คอนสตรัคชั้น 1987 จำกัด เป็นผู้เขียนแบบก่อสร้างโรงแรม ดิแองเจิล ที่ผู้เสียหายจะก่อสร้าง โดยนายษิทราอ้างว่ามีค่าจ้างเขียนแบบโรงแรม เป็นเงินจำนวน 9 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้วนายษิทราได้ไปว่าจ้างบริษัท กริต อาร์คิเทคท์ จำกัด ให้เขียนแบบโรงแรมดังกล่าวให้กับผู้เสียหายแล้ว ในราคา 3.5 ล้านบาท
ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินชำระค่าเขียนแบบดังกล่าว จำนวน 9 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีธนาคารของนางพจมาน บัวลาส กรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท ปีเตอร์ฯ จากนั้นได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้กับนายษิทราทำให้นายษิทรา ได้ไปซึ่งเงินส่วนต่างค่าเขียนแบบโรงแรมดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 5 ล้าน 5 เเสนบาท
4.ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายษิทรา, นายนุวัฒน์ ยงยุทธ และนางสาวสารินี นุชนารถ ได้ร่วมกัน หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่านายนุวัฒน์ มีกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถโอนสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ได้ ผู้เสียหายจึงให้นายนุวัฒน์ โอนสกุลเงินดิจิทัล บิทคอยน์ให้กับผู้ใช้อินสตาแกรมชื่อบัญชี เฉินคุน จากนั้นได้หลอกลวงผู้เสียหายว่านายนุวัฒน์ ได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของน.ส.สารินี โอนเงินไปยังบุคคลดังกล่าวแล้วทำให้กระเป๋าเงินดิจิทัลของ น.ส.สารินี ถูกระงับการใช้งาน
ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 39 ล้านบาท โดยได้ร่วมกันส่งภาพถ่ายสำเนาบันทึกประจำวันแจ้งกรณีถูกอายัดเงินดังกล่าวไปให้ผู้เสียหายดูทางแอปพลิเคชั่นไลน์ด้วย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลของนางสาวสารินี ถูกระงับจริง ทั้งที่ความจริงแล้วกระเป๋าเงินสกุลดิจิทัลของนายนุวัฒน์ และนางสาวสารินีไม่ได้ถูกระงับการใช้งานแต่อย่างใด
ผู้เสียหายจึงส่งมอบเงินด้วยการซื้อแคชเชียร์เช็ค สั่งจ่ายเงิน 39 ล้านบาท ให้กับน.ส.สารินี แล้วนายนุวัฒน์ กับน.ส.สารินี ได้ร่วมกันนำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาโลตัสปากช่อง ของน.ส.สารินี จากนั้นนายษิทรา นายนุวัฒน์ และน.ส.สารินี ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินสด 39 ล้านบาทดังกล่าว ออกจากบัญชีธนาคารของน.ส.สารินี
พฤติการณ์และการกระทำของนายษิทรากับพวก ถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็น
ปกติธุระ ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ได้ทำการสืบสวนพบว่านายษิทรา กับพวก ได้มีการกระทำต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ดังต่อไปนี้
1.กรณีที่น.ส.จตุพร ได้โอนเงิน 9 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าว่าจ้างออกแบบการก่อสร้างโรงแรม ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ของนางพจมาน บัวลาศ ตามที่นายษิทรา หลอกลวงดังกล่าว จากการสืบสวนพบว่า ต่อมานางพจมาน และนายเขมวัฒน์ ได้เบิกถอนเงินสดจำนวนดังกล่าวนำไปมอบให้กับนายษิทรา ตามคำสั่งของนายษิทรา
แล้วนายษิทรา ได้แบ่งเงินสดดังกล่าวใส่ซองกระดาษ แล้วนำไปมอบให้กับนางสาวปิณฑิรา การวัลย์ ผู้ต้องหา แล้วผู้ต้องหาได้นำเงินสดจำนวน 1 ล้านบาท ที่ได้รับมาดังกล่าว ไปทำธุรกรรมฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหา
2.กรณีที่น.ส.จตุพรได้ซื้อแคชเชียร์เช็ค สั่งจ่ายเงิน 39 ล้านบาท ให้กับน.ส.สารินี ตามที่ได้ถูกนายษิทรา นายนุวัฒน์ ยงยุทธ และน.ส.สารินี ร่วมกันหลอกลวงว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลถูกระงับ แล้วนายนุวัฒน์ กับน.ส.สารินี ได้นำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวฝากเข้าบัญชีธนาคารของน.ส.สารินี นั้น จากการสืบสวนพบว่าต่อมานายษิทรา ได้แจ้งให้ผู้ต้องหา นำกระเป๋าเดินทางไปพบนายนุวัฒน์ และน.ส.สารินี ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่อไปรับเงินสดจำนวนดังกล่าว
แล้วผู้ต้องหา ได้แจ้งให้คนขับรถของนายษิทราขับรถยนต์พาผู้ต้องหา พร้อมกับกระเป๋าเดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อไปถึงผู้ต้องหาได้สั่งการให้คนขับรถนำกระเป๋าเดินทางไปพบนายนุวัฒน์ ภายในธนาคาร สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าวส่วนผู้ต้องหา ยืนรออยู่บริเวณหน้าธนาคารดังกล่าว
โดยนายนุวัฒน์ และน.ส.สารินี ได้เบิกถอนเงินสด 39 ล้านบาท ออกจากบัญชีธนาคารของน.ส.สารินี แล้วมอบเงินสด 20 มัด คิดเป็นเงินรวม 20 ล้านบาท ให้กับคนขับรถเพื่อบรรจุใส่ในกระเป๋าเดินทางดังกล่าว จากนั้นผู้ต้องหาได้สั่งการให้คนขับรถขับรถยนต์พาผู้ต้องหาพร้อมกระเป๋าเดินทางที่บรรจุเงินจำนวนดังกล่าวกลับบ้านพักที่ผู้ต้องหา และนายษิทราพักอาศัยอยู่ด้วยกัน แล้วนำกระเป๋าเดินทางดังกล่าวไปเก็บไว้ภายในบ้านพักบริเวณหน้าบันไดชั้นที่ 2 ของบ้าน
พฤติการณ์และการกระทำของนายษิทรา, นายนุวัฒน์, น.ส.สารินี และผู้ต้องหาดังกล่าว จึงเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้นเพื่อปกปิดอำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทำความผิดด้วย
คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางลงวันที่ 30 ต.ค.2567 ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับ นางสาวปิณฑิรา การิวัลย์ ผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยกล่าวหาผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐามผิดฐาน”ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน”
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 16.00 น. เจ้าพนักงานตำรวจ ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายดังกล่าวได้ที่บริเวณชั้น 9 ของห้างสรรพสินค้าสยามสเคป ถนนพญาโท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3กองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีตามกฎหมาย
การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน”อันเป็นความผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯมาตรา 3(18), มาตรา5 , 9 วรรคสอง และมาตรา60 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่ง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับ4) พ.ศ.2556 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา83
พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 10ปาก พยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม/ตรวจค้น รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา
ในกรณีผู้ต้องหา ขอให้ปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านเนื่องจาก 1.เนื่องจากคดีที่ผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนี้ มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 10ปี
2.ผู้ต้องหามีการกระทำต่อทรัพย์สินเป็นเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงผู้เสียหาย สูงถึง 39 ล้านบาท ในลักษณะเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปอีก โดยมีเจตนาเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ยากต่อการสอบสวนและติดตามทรัพย์สินนั้น
3.ก่อนที่ผู้ต้องหา จะถูกจับกุมตัว มีการเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ตามคำสั่งของนายษิทราเจตนาเพื่อให้ยากต่อการติดตามตัวและเป็นการทำลายหลักฐานการติดต่อ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่มีอยู่ในโทรศัพท์
4.ผู้ต้องหาเคยให้การในฐานะพยาน อ้างถิ่นที่อยู่ว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2556 เวลา 17.00 น.(วันเกิดเหตุ) ผู้ต้องหาได้ไปรับบุตรของนายษิทรา ที่โรงเรียน โดยมีการนำภาพถ่ายสถานที่จากโทรศัพท์มือถือของบุตรนายษิทรา มาอ้างใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบคำให้การ แต่ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ได้ไปรับบุตรของนายษิทรา ตามวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด
5.จากการตรวจค้นบ้านพักของนายษิทรา ที่ผู้ต้องหาอาศัยอยู่ด้วย พบมีร่องรอยการขนย้ายทรัพย์สินออกจากตู้นิรภัย ซึ่งบุคคลที่รู้รหัสและสามารถเปิดตู้นิรภัยดังกล่าวได้มีเพียงนายษิทรา, น.ส.ปทิตตา เบี้ยบังเกิด (ภรรยาของนายษิทรา) และผู้ต้องหาเท่านั้น จึงเชื่อว่าผู้ต้องหานี้มีส่วนรู้เห็นในการขนย้ายทรัพย์สินต่างๆ ออกไปจากตู้นิรภัยด้วย ทำให้ยากต่อการติดตามทรัพย์สิน
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน นอกจากนี้ท้ายคำร้องผู้เสียหายขอคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากคดีมีอัตราโทษจำคุกและมูลค่าความเสียหายสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายในคดีพยานสำคัญในคดี
อ่าน ดาว พี่เมียทนายตั้ม ยังปฏิเสธ ให้การไม่เป็นประโยชน์ หลังพบเอี่ยวโกง 39 ล้าน