รายงานพิเศษ….สันติ จิรพรพนิต

ในงาน‘Honda Meeting 2017’ ที่ผมได้รับเชิญจากฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย เดินทางไปยังศูนย์ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี เมืองโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากรับทราบถึงนวัตกรรมใหม่ๆของค่ายฮอนด้าแล้ว ยังมีรถหลากหลายรุ่นที่รอให้สื่อมวลชนจากทั่วโลก ได้ทดสอบ

รถรุ่นแรกที่ทดสอบเป็นระบบการขับขี่อัตโนมัติ ที่ฮอนด้ากำลังพัฒนาและจะใช้ในไม่กี่ปีข้างหน้า ต้นแบบใช้รถดัง 2 รุ่นคือ‘เลเจนด์’’ และแอคคอร์ด’ซึ่งเป็นเก๋งขนาดกลาง

รุ่นเลเจนด์ ฮอนด้าติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนทางด่วน หรือถนนไฮเวย์ใหญ่ๆ ส่วนแอคคอร์ด ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติภายในเมือง

การทดสอบรุ่นเลเจนด์ ใช้พื้นที่สนามทดสอบ โดยผมนั่งอยู่หลังพวงมาลัยเอง จำลองเหตุการณ์ให้มีรถอีก 2 คันขับนำหน้า หลังออกตัวมาสัก 200 เมตร ก็กดปุ่มขับเคลื่อนอัตโนมัติที่พวงมาลัย เหตุการณ์แรกขับตามรถคันหน้าไป แล้วพบรถที่ขับช้า เลเจนด์ที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติจะเปลี่ยนเลนเองแล้วเพิ่มความเร็วแซงขึ้นหน้า

หลังจากแซงแล้วรถก็เร่งความเร็วเร่งขึ้นไปเจอกับรถอีกคันที่เบรกจนหยุดสนิท ระบบอัตโนมัติจะเบรกตามในระยะห่างที่เหมาะสม เมื่อรถคันหน้าแล่นออกไป ระบบอัตโนมัติก็เร่งเครื่องตาม จากนั้นรถคันหน้าก็จำลองเหตุการณ์ว่าหลบเข้าซ้ายหรือเลี้ยวออกจากเส้นทางที่ขวางหน้า เมื่อเลนตรงหน้าไม่มีสิ่งกีดขวาง ระบบอัตโนมัติก็เร่งเครื่องไปยังความเร็วที่กำหนดไว้

แม้จะเป็นการทดสอบเพียง 1 รอบสนาม แต่ก็น่าตื่นเต้นเพราะไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะสามารถนั่งเฉยๆ หลังพวงมาลัย แล้วรถจะขับเคลื่อนไปเอง โดยเฉพาะการหมุนพวงมาลัยเองนั้นดูแล้วแปลกตาดี ฮอนด้า คาดว่าจะเริ่มติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติบนทางไฮเวย์ในรถช่วงปีค.ศ.2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

หลังผ่านการทดสอบแรก ก็ไปทดสอบการขับขี่อัตโนมัติที่ล้ำขึ้นไปอีกขั้นคือการขับขี่อัตโนมัติในเมือง ซึ่งติดตั้งในแอคคอร์ด รุ่นนี้ไม่มีโอกาสได้ขับเองเพราะวิศวกรฮอนด้า เป็นผู้ควบคุมผมนั่งคู่ไปตอนหน้าดูการทำงานเท่านั้น ระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่ติดตั้งในแอคคอร์ดมีระบบ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ‘เอไอ’ ซึ่งวิศวกรฮอนด้า ใส่ข้อมูลต่างๆลงไปจำนวนมาก เพื่อให้สมองกลสามารถแยกแยะลักษณะของคน รถยนต์ สิ่งของ และอื่นๆ

ที่ต้องใส่ระบบเอไอ เพราะการขับขี่ในเมืองมีตัวแปรมากกว่าการขับขี่บนไฮเวย์หลายเท่า คิดง่ายๆ ถ้าเทียบกับเมืองไทยเหมือนเราขับรถบนทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ กับขับรถไปตามถนนแถวๆสีลม หรือพารากอน ตอนอยู่บนทางด่วนเราจะระวังแค่รถเท่านั้น แต่หากขับขี่ในเมืองนอกจากรถใหญ่ ยังมีจักรยานยนต์ จักรยาน และคนเดินไปเดินมาขวักไขว่

ระบบเอไอ จะมาช่วยแยกแยะและป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากตัวแปรมากมาย เช่นคนเดินถนน โดยจะจับใบหน้า อาศา-ความเร็วการเดิน แนวโน้ม ต่างๆ รวมถึงปัญหาการก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือระหว่างเดินด้วย ‘เอไอ’ ในระบบขับขี่อัตโนมัติในเมือง จึงมีความสามารถเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ได้เองด้วย

ในรถติดตั้งกล้องหลักๆ 3 ตัวที่บริเวณกระจกหน้า ทำหน้าที่คำนวณช่องจราจรทั้งด้านหน้า ซ้าย และขวา เชื่อมกับระบบแผนที่จากระบบเซิร์ฟเวอร์ผ่านกล่องระบบโทรคมนาคม (Telecommunications Units) และระบบจะทำการประมวลข้อมูลที่ได้รับมาร่วมกับการระบุตำแหน่ง ทำงานคู่กับเซ็นเซอร์ 2 ระบบทำงานประสานกัน ประกอบด้วย กล้องกับเรดาร์ และกล้องกับ LiDAR ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุตำแหน่งบนท้องถนนและสิ่งกีดขวาง ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำมารวมกัน และ ECU หลักจะคำนวณหาเส้นทางไปยังจุดมุ่งหมายที่เหมาะสมที่สุด

เมื่อกดปุ่มทำงานอัตโนมัติจะเห็นเส้นคู่ 2 เส้นขีดระหว่างข้างทางกับเส้นแบ่งเลนกลางถนน โดยรถจะขับไปตามเลนดังกล่าว เมื่อมาถึงทางแยกกล้องอีกตัวจะจับภาพทั้งเส้นทึบบนถนน หรือแสดงให้เห็นว่ามาถึงแยกแล้วรถจะค่อยๆ เบรก จนเมื่อปลอดภัยแล้วรถก็จะเคลื่อนตัวไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้

ผู้บริหารและวิศวกรฮอนด้า ยืนยันว่าระบบตรวจจับภาพของกล้องและเรดาห์ติดรถในระบบขับขี่อัตโนมัติในเมืองนั้น แม่นยำและมี่ความปลอดภัยสูง สามารถจับภาพคนหรือรถจักรยานในที่มืดได้ดีกว่าสายตาคน รวมไปถึงสามารถคำนวณเลนขึ้นมาเองได้ ในกรณีที่ขับไปบนถนนที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน

ฮอนด้าคาดว่าจะติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติในเมืองภายในปีค.ศ.2025

เป้าหมายของฮอนด้า เกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติ ต้องการลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงพยายามแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักกว่า 90% ของอุบัติเหตุทั้งหมด

เหนือสิ่งอื่นใด ฮอนด้ามองว่าต้องการให้ผู้ขับขี่มั่นใจในระบบการขับขี่อัตโนมัติอย่างเต็มที่ พัฒนาระบบที่สามารถคำนวณความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ รวมถึงคำนวณเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นบนท้องถนนโดยรอบที่มีความซับซ้อน และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย

ทริปนี้ยังมีโอกาสขับรถดังๆอีกหลายรุ่นที่ไม่มีขายในไทย ทั้งฮอนด้า ซีวิค ไทพ์ซี ตัวแต่งของซีวิครุ่นปัจจุบัน และ‘ฮอนด้า คลาริตี้’(Clarity) เก๋งขนาดกลางที่ขายในอเมริกาและญี่ปุ่น ใช้เครื่องยนต์‘ไฮโดรเจน’ หรือ‘ฟิวเซล’(Fuel cell) จำหน่ายแบบเช่าซื้อระยะยาวเมื่อปลายปีที่แล้ว

ล่าสุด‘คลาริตี้’ส่งรถอีก 2 เครื่องยนต์เข้ามาทำตลาดด้วยคือ เครื่องยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ‘อีวี’ และปลั๊กอินไฮบริด วางจำหน่ายปลายปีนี้ ทั้งหมดใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร การทดสอบทางฮอนด้าทำสนามจำลองขึ้นมามีทั้งทางโค้ง และทางตรงให้ซัดยาวๆ แม้จะขับแค่รุ่นละ 1 รอบ เนื่องจากคิวสื่อมวลชนที่รออยู่ค่อนข้างเยอะแต่ก็รับทราบถึงพละกำลังของแต่ละเครื่องยนต์ได้พอประมาณ

จากการทดลองกดคันเร่งแบบมิดในทางตรงซึ่วงมีความยาวประมาณ 2-3 ร้อยเมตร รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทำได้ถึง 150 ก.ม./ชั่วโมงในเวลาที่สั้นมาก เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ทำได้ใกล้เคียง และอันดับ 3 ตกเป็นของเครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริด

ส่วน‘ซีวิค ไทพ์ซี’ก็ขับสนุกครับ เข้าโค้งได้มันส์มากเนื่องจากเซ็ตช่วงล่างและเครื่องยนต์ใหม่ นอกจากนี้ยังได้ชมการขับรถแข่งพลังงานไฟฟ้าของฮอนด้า โดยนักขับมืออาชีพด้วย บอกเลยว่ายอดฝีมือจริงๆ ขับได้เฟี้ยวฟ้าวมาก

รับรู้ถึงสมรรถนะของรถแต่ละรุ่นแล้ว บอกได้เลยว่านาทีนี้เทคโนโลยีด้านยานยนต์ของ‘ฮอนด้า’ ไม่เป็นรองค่ายใดในโลกจริงๆ

‘พิทักษ์ พฤทธิสาริกร’ ประธาน ฮอนด้าฯ ประเทศไทย

การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ร่วมงาน‘Honda Meeting 2017’ มีนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นำทีมไปด้วยตัวเอง พร้อมกันนี้ผู้บริหารระดับสูงของฮอนด้า ประเทศไทย บอกถึงแนวโน้มการพัฒนารถยนต์ของฮอนด้า ในอนาคตโดยเฉพาะระบบการขับขี่อัตโนมัติ และการผลิตรถที่เน้นการประหยัดพลังงานและปล่อยมลพิษน้อยที่สุด

“ระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือ‘ออโตเมเต็ด ไดร์ฟ’(Automated Drive’) ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรถรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ตอนนี้อยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนามาได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว จริงๆ แล้วทิศทางของการพัฒนารถนยนต์ในอนาคต นอกเหนือจากการขับเคลื่อนที่เน้นการอนุรักษ์ เช่นระบบไฮโดรเจน หรือฟิวเซล ระบบไฟฟ้า หรืออีวี ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด เป็นทิศทางพัฒนาตัวขับเคลื่อน อีกทิศทางที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือพัฒนาระบบออโตเมเต็ด ไดร์ฟ เป็นทิศทางใหญ่ๆที่ทั่วโลกไปใน 2 แนวทางนี้”นายพิทักษ์ กล่าว

นายพิทักษ์ บอกอีกว่า ฮอนด้าพัฒนาไปทั้ง 2 ส่วน คือทั้งตัวรถยนต์และตัวระบบควบคู่กันไป ทิศทางของการพัฒนารถยนต์ต้องไปในแนวนั้น ดังที่ซีอีโอของฮอนด้า(นายทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ ประธานกรรมการบริหาร และผู้แทนกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด) ประกาศไว้ว่าภายในปีค.ศ.2030 ระยนต์ของฮอนด้าทั่วโลก 2 ใน 3 จะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด ปลั๊กอิน หรือไฮโดรเจน

“ส่วนในเมืองไทยและแต่ละประเทศนั้นจะไปในแนวทางไหน ต้องดูกฎระเบียบและแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐ สภาพแวดล้อม มีหลายปัจจัยที่กำหนดว่าแต่ละตลาดจะมีรายละเอียดอย่างไร และมีความพร้อมขนาดไหน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน