เป็นองค์กรที่ช่วยสนับสนุน และ ขับเคลื่อนให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงในบ้านเรา สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ที่วันนี้ได้ กฤษฎา อุตตโมทย์ นั่งแป้นนายกสมาคม

มีแนวทางหรือนโยบายอย่างไรบ้าง วันนี้ข่าวสดยานยนต์ มีคำตอบมาให้ แฟนานุแฟนได้รับทราบโดยทั่วกัน

ปีนี้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดแน่
หากมองย้อนกลับไป จะพบว่ายานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีที่แล้วมีจดทะเบียนรวมประมาณ 5,000 คัน เป็นรถยนต์ 2,000 คัน ที่เหลือเป็นมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก รถโดยสาร จากปี 2563 มีจดทะเบียนรวม 3,000 คัน แสดงให้เห็นว่า ความต้องการใช้งานของคนไทยนั้นมีอยู่ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน

ส่วนปีนี้เดิมก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าออกมา ประเมินกันว่ามีโอกาสที่ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้ 100% เช่นเดียวกันกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้ตัวเลขจะขยายตัวไปได้อีกแค่ไหน มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องรอดูกัน

มีปัจจัยอะไรที่น่าเป็นห่วง
ในส่วนของผู้บริโภค ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่วันนี้มีประสิทธิภาพ และความสะดวกสบายขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ทั้งราคาที่ถูกลง แบตเตอรี่ราคาถูกลง การบำรุงรักษา ประหยัดกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ไม่ปล่อยมลพิษ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกกว่า อยู่ที่ไม่ถึง 1 บาทต่อก.ม. รถยนต์ทั่วไปต้องมีเกิน 2.50 บาทต่อก.ม.
แต่ต้องยอมรับว่า คนไทยจะพร้อมกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้หรือไม่ กับการชาร์จไฟฟ้า ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจต้องมีการปรับพฤติกรรมการใช้งานกันเล็กน้อย
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ เจอปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลไม่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันกับความต้องการ เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง
จากจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ราคาถูกลง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญ มีการพัฒนาให้ขนาดเล็กลง ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ชาร์จไฟฟ้าได้เร็วขึ้น วิ่งได้ระยะทางมากขึ้น แต่ราคาถูกลง ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ลดลงไปค่อนข้างมาก รถเก๋งราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท มีให้เห็นแล้ว

และยิ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งจากนโยบายด้านภาษีที่ปรับลดลง รวมกับการให้เงินอุดหนุนอีกคันละ 70,000-150,000 บาท เชื่อว่าคนไทยได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นรถเก๋งขนาดเล็ก แต่ใช้งานได้จริงบนถนนหลวง ราคาเริ่มต้นที่ 500,000-600,000 บาท ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นทุกวันนี้

ปัญหาเรื่องสถานีชาร์จ
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวน ปลายปีที่แล้วมีอยู่ทั้งสิ้น 2,200 หัวจ่าย 660 โลเกชั่น แบ่งเป็น DC quick charge 700 กว่าหัวจ่าย ซึ่ง DC quick charge มีผลต่อการใช้งาน เพราะสามารถชาร์จได้เร็วกว่ามาก สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

ซึ่งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าได้กำหนดแผนไว้ว่าในปี 2568 เพิ่มเป็น 4,400 สถานีชาร์จ และปี 2573 เพิ่มเป็นกว่า 10,000 สถานีชาร์จ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งมือ คือการประสานกันของผู้ให้บริการสถานีชาร์จทุกค่าย ให้รถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะปัจจุบันแต่ละค่าย มีระบบการชาร์จ ระบบการชำระเงินแตกต่างกัน

สมาคมได้พยายามผลักดัน โดยการทำ MOU ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้หลังบ้านของแต่ล่ะสถานีชาร์จ พูดคุยกันให้รู้เรื่อง มีบัตร หรือแอพพลิเคชั่นของค่ายไหน ก็สามารถใช้งานหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมด ลักษณะเหมือนการใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารทั่วไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน