แม้ในปี 2564 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่ยากลำบากของวงการยานยนต์อีกหนึ่งปี เพราะมีอุปสรรคนานัปการ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ค่ายซูม ซูม มาสด้า ท้อถอยหรือหวั่นไหว

ล่าสุดในงานแถลงข่าวประจำปี ผู้บริหารหนุ่ม ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของมาสด้า ประเทศไทย

กลยุทธ์ของมาสด้าในปีนี้
ยังคงเดินหน้าเต็มรูปแบบผ่านโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “Retention Business Model” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าแบรนด์ และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าในระยะยาว ซึ่งโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะเป็นแกนหลักสำคัญที่จะถูกส่งต่อเพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์การทำงานในทุกๆ ส่วน

เริ่มจากการยกระดับคุณค่าแบรนด์ พร้อมทั้งสร้างความผูกพันกับลูกค้า ด้วยการมอบประสบการณ์และความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าตั้งแต่ก่อนตัดสินใจซื้อ ระหว่างซื้อ บริการหลังการขาย ไปจนถึงการเอาใจใส่ดูแลลูกค้าไปตลอดอายุการใช้งาน ด้วยการขยายศูนย์ซ่อมตัวถังและสี การขยายไลน์ธุรกิจรถมือสอง MAZDA CPO การขยายศูนย์บริการตรวจเช็กระยะแบบเร่งด่วนภายใน 30 นาที หรือ Mazda Fast Service เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงให้บริการได้ครบวงจร

การขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การทำการตลาดดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะสามารถทำแคมเปญโปรโมชั่นเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น และการมุ่งมั่นสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละตลาด ตลอดจนสถานการณ์ด้านพลังงานของแต่ละภูมิภาค

แผนการขยายตลาดรถมือสอง
MAZDA CPO (Certified Pre-Owned) เริ่มดำเนินการแล้วในกทม.และหัวเมือง โดยมีทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม อยู่ในโชว์รูมมาสด้า อยู่ในศูนย์ซ่อมตัวถังและสี และสร้างขึ้นใหม่แยกต่างหาก หรือที่เรียกว่าสแตนด์อโลน จุดเด่นของ MAZDA CPO คือ ต้องเป็นรถที่อายุไม่เกิน 5 ปี หรือเลขไมล์ไม่เกิน 120,000 ก.ม. ไม่มีประวัติชนหนัก จมน้ำ หรือไฟไหม้ เข้าเช็กระยะอย่างต่อเนื่องที่ศูนย์บริการมาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบสภาพรถ 119 จุด เครื่องยนต์สมบูรณ์ เลขไมล์แท้ พร้อมใช้งาน และรับฟรีประกันภัยชั้น 1 Mazda Premium Insurance ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ปีนี้ตั้งเป้าขยายเพิ่ม 18 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 38 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคภายในปี 2568

ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปีนี้
สถานการณ์ในปีนี้แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดในยุโรป ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่มีความผันผวน ความหวาดหวั่นต่อการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ระบบขนส่งโลจิสติกส์ และการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์

แต่เชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว การที่ประชาชนได้รับวัคซีน เป้าหมายการปรับเป็นโรคประจำถิ่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ล้วนแล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก แต่เชื่อว่าจะดีกว่าปีผ่านมา

คาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีงบประมาณนี้จะมียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 820,000-850,000 คัน และมาสด้าตั้งเป้ายอดขายไว้ที่มากกว่า 40,000 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 15%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน