จีนผุดสนามบินอีกหลายร้อย ครองเจ้าแห่งน่านฟ้าแซงสหรัฐ

จีนผุดสนามบินอีกหลายร้อยซีเอ็นเอ็น รายงานว่า จีนกำลังเปลี่ยนบทบาทเป็นเจ้าแห่งน่านฟ้าและจะกำลังแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในการเป็นตลาดการเดินทางทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะนี้ สนามบินนานาชาติ เป่ยจิง ต้าซิง กรุงปักกิ่ง (คลิปด้านบน) เป็นสนามบินเจ้าของสถิติมีเทอร์มินัล หรืออาคารผู้โดยสารเดี่ยว ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะรองรับผู้โดยสารกว่า 100 ล้านคน กำลังเข้าสู่เฟสสุดท้ายของการก่อสร้าง และทดสอบรองรับเที่ยวบินไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. พร้อมสำหรับการเปิดใช้งานเดือนกันยายนปีนี้ 2562

สนามบินต้าซิง ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลกชาวอิรัก-อังกฤษ ซาฮา ฮาดิด และคณะสถาปนิกชาวจีน ออกแบบให้มี 4 รันเวย์และอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 97 สนาม อีกทั้งยังเชื่อมโยงด้านคมนาคม เส้นทางรถไฟความเร็วสูง 350 ก.ม.ต่อช.ม. เพื่อเข้าเมือง

ระยะเริ่มต้น สนามบินรองรับผู้โดยสารได้ 72 ล้านคน และสินค้า 2 ล้านตันต่อปี แต่เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้วจะรองรับผู้โดยสารได้อย่างน้อย 100 ล้านคนและสินค้า 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางภายในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเพราะสถาปนิกออกแบบให้มีระยะทางเดินใกล้และไปถึงประตูขึ้นเครื่องบินได้ง่าย

จีนผุดสนามบินอีกหลายร้อย

ภายในสนามบินต้าซิง / CGTN

ปัจจุบัน จีนมีสนามบิน 235 แห่งแต่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารที่กำลังเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลประเมินว่าต้องมีสนามบินประมาณ 450 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2578 หรือค.ศ.2035 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่นักวิจัยคาดว่าจีนจะมีส่วนแบ่งผู้โดยสารโดยเครื่องบินถึง 1 ใน 4 ของโลก

เฉิน กัวหลอ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายทางอากาศจากมหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง กล่าวว่า จีนเร่งขยายสนามบินเพื่อต้องการรองรับความต้องการของผู้โดยสารและเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนองค์กรการบินพลเรือนจีนระบุว่าสนามบินจีนรองรับผู้โดยสาร กว่า 1,264,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2% จากปี 2560

ทุกวันนี้ จีนเปิดสนามบินใหม่ 8 แห่งต่อปี โดยมีแผนสร้างสนามบินใหม่แห่งที่ 3 ในเซี่ยงไฮ้และสนามบินแห่งที่ 2 ในกวางโจว ขณะที่ปรับปรุงและขยายสนามบินอื่นๆ และในอีกไม่กี่ปีนี้ จะมีสนามบินระดับโลกที่เปิดเปิดให้บริการในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น

เช่น สนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฟู่ จะเปิดให้บริการปี 2563 โดยจะเป็นสนามบินแห่งที่ 2 ของเฉิงตูและจะลดความหนาแน่นของผู้โดยสารที่แออัดในสนามบินซวงหลิวในเฉิงตู

สนามบินเทียนฟู่ / ADP Ingénierie

นอกจากนี้ จีนยังมีแผนสร้างสนามบินใหม่อีกหลายแห่งในด้านตะวันตกที่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารน้อย แผนพัฒนาดังกล่าวจึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาคซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ด้อยพัฒนาทางตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

การสร้างสนามบินหลายร้อยแห่งเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจต่อไป แต่อาจไปไม่สุด เพราะสะดุดสงครามการค้าจีนกับสหรัฐเสียก่อน

ยิ่งกว่านั้น หากบรรยากาศท่องเที่ยวซบเซา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ ก็อาจจะกระทบแผนการสร้างสนามบิน และหากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็จะส่งผลให้ชาวจีนลดการไปท่องเที่ยวต่างประเทศลง

แต่นักวิเคราะห์มองในแง่ดีว่าผู้โดยสารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ภายในปี 2578 เฉพาะจีน จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 เพราะประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ความท้าทาย คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน เพราะจำนวนมากจะเกษียณภายใน 5-10 ปีนี้ และเห็นว่ารัฐบาลจีนยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้สักเท่าไร

เครื่องไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลนส์ ลงที่สนามบินต้าซิง ระหว่างการทดสอบรองรับเที่ยวบินขึ้นลง เมื่อ 13 พ.ค. REUTERS/Stringer

ขณะที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบจากการจราจรทางอากาศ โดยสหประชาชาติบรรลุข้อตกลง Carbon Offset and Reduction Scheme for International Aviation หรือ CORSIA เพื่อเรียกร้องให้สายการบินทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ซึ่งสายการบินต่างๆ สมัครใจซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการบิน แต่ไม่มีสายการบินของสหรัฐฯ และจีน รวมอยู่ด้วย

ด้านสถาบันการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ปี 2561 สหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 22.7 ของทั้งโลก โดยเกิดจากอากาศยานของกองทัพร้อยละ 80 ส่วนสายการบินพาณิชย์ร้อยละ 20

ส่วน จีนตามมาเป็นอันดับ 2 โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10.4 และจีนยังมีการจัดการน่านฟ้าที่ย่ำแย่และมีเที่ยวบินดีเดย์บ่อย ซึ่งรัฐบาลจีนกำหนดไว้ในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปีว่าจะเปิดเสรีและเข้มงวดการจัดการน่านฟ้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน